กรุงเทพฯ 25 มิ.ย. – รมว.เกษตรฯ สั่งเร่งปราบปรามขบวนการสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งออกไปยังจีน พบมีต่างชาติร่วมกับผู้ประกอบการไทยบ่อนทำลายเศรษฐกิจ ด้านอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเผยเฝ้าระวังเข้มการสำแดงนำเข้าเท็จและใช้ใบรับรอง GAP / GMP ปลอมในทุเรียนและส้มโอ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด) กล่าวว่า ฟรุ้ทบอร์ดได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมด่วนเรื่องการขยายผลปรามปรามขบวนการข้ามชาติสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งขายจีน ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ จังหวัดจันทบุรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมศุลกากร หลังร่วมกันบุกจับกุมผู้ประกอบการล้งรับซื้อผลไม้แห่งหนึ่งใน จ.จันทบุรี ที่นำเข้าทุเรียน 18 ตันจากประเทศเวียดนาม โดยสำแดงว่า เพื่อแปรรูป แล้วปลอมแปลงเอกสารรับรอง GAP และ GMP เป็นทุเรียนไทยเพื่อส่งออกไปจีน เพื่อให้ได้ราคาเพิ่มขึ้น จากราคาต้นทางกิโลกรัมละ 70 บาท เป็น 160 บาท
ทั้งนี้ สั่งการให้พลิกกฎหมายทุกข้อทั้งทางอาญาและแพ่งมาดำเนินคดีผู้ร่วมขบวนการทุกคน ตลอดจนถอนใบรับรอง GAP / GMP และกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าเรียนต่างประเทศมาสวมสิทธิอย่างเด็ดขาดเนื่องจากกำลังเริ่มต้นฤดูผลไม้ภาคใต้ ไม่เช่นนั้นจะสร้างความเสียหายต่อการส่งออกทุเรียนที่เป็นผลไม้เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของไทย โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2563 ไทยมีการส่งออกทุเรียนสดมูลค่า 65,631 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 44% โดยมีจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 มูลค่ารวม 47,798 ล้านบาท คิดเป็น 73% ของการส่งออกทุเรียนสดทั้งหมด
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า ตรวจสอบพบความพยายามสวมสิทธิส่งออกในผลไม้ 2 ชนิดคือ ทุเรียนและส้มโอ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมามาไทยได้ แต่ส่งผ่านไปประเทศที่สามไม่ได้ ก่อนหน้านี้มีการลักลอบนำเข้าส้มโอมาคัดบรรจุที่ จ.พิจิตรแล้วส่งออกไปต่างประเทศ จึงตรวจสอบไปยังด่านปลายทางที่เชียงของ จ.เชียงราย พบว่ามีผู้ประกอบการใช้โรงคัดบรรจุหรือล้งรับซื้อส้มโอร่วมกับผู้ส่งออกไปขอใบ PC (Phytosanitary certificate) หรือใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อประกอบการส่งออก จึงสั่งไม่ออกใบ PC ให้และระงับการส่งออกด้วย
ทั้งนี้ได้กำชับให้ด่านตรวจพืชตรวจสอบทั้งข้อมูลชื่อผู้รับ ลักษณะบรรจุภัณฑ์ จำนวนตู้สินค้า ปริมาณที่นำเข้า ความถูกต้องของคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืช และทะเบียนสวน แล้วเชื่อมโยงข้อมูลกับด่านส่งออก เพื่อป้องกันสวมสิทธิดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศและอาจทำให้มีแมลงศัตรูพืชกักกันที่ไม่เคยมีในประเทศติดเข้ามาแพร่ระบาดภายในประเทศได้ โดยหากพบเบาะแสหรือการกระทำผิดให้รายงานกรมทราบทันที เพื่อดำเนินการอย่างเฉียบขาด. – สำนักข่าวไทย