พิจิตร 19 ก.พ.-ชาวสหกรณ์ในจ.พิจิตร เลิกสนการทำนาปรัง หันไปปลูกพืชฤดูแล้งอื่น ๆระบุสร้างรายได้มากกว่าหลายเท่า ทั้งพริกซอส พริกแจ่ว ข้าวโพดหวาน มีตลาดรับซื้อชัดเจน
นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมสมาชิกสหกรณ์การเกษตรชาวนาวังทรายพูน จำกัด และสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด จังหวัดพิจิตร ซึ่งกรมมีโครงการส่งเสริมอาชีพเสริมรายได้ให้แก่สมาชิกต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 พบว่าสมาชิกมีรายได้ในการปลูกพืชในฤดูแล้งแทนการทำนาปรังหลายเท่า ส่งผลให้สมาชิก มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพและมีรายได้เหลือสำหรับมาลดหนี้ของสหกรณ์ได้อีกด้วย ซึ่งพืชที่ปลูกนั้นสหกรณ์จะมีพันธมิตรคือบริษัทเอกชนทำสัญญาซื้อผลผลิตในราคาประกัน
สำหรับโครงการนี้ ถือเป็นการทำร่วมกันแบบ 3 ขา คือสหกรณ์ สมาชิกและเอกชนผู้ทำตลาด โดยสหกรณ์ส่งเสริมอาชีพหาความร่วมมือกับเอกชนที่น่าเชื่อถือและมีตลาดชัดเจน และปลูกพืชที่ตลาดสนใจทำให้รายได้แน่นอน ขณะเดียวกัน เมื่อสมาชิกมีรายได้คล่องตัวก็สามารถชำระหนี้สหกรณ์ได้ เป็นการช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งที่พิจิตร สมาชิกสหกรณ์ประสบความสำเร็จมากในการปลูกพืชเสริมรายได้แทนนาปรัง พริกซอส พริกแจ่ว และเมื่อกลางปีที่ผ่านมา กรมได้ส่งเสริมพืชทางเลือกเช่นข้าวโพดหวาน โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ที่เอกชนมอบให้เพื่อให้สหกรณ์นำร่องไปทดลองปลูกรายละ 1 ไร่ สหกรณ์ละ 1-2 ราย โดยมีเอกชนร่วมสนับสนุนทางวิชาการ พบว่าได้ผลิตมากกว่า 3 ตันราคา 4 บาทต่อกิโลกรัม หักต้นทุน 2,000-5,000 บาทต่อไร่ เหลือรายได้มากกว่า 10,000บาทต่อไร่ ทำให้ปลายปีที่ผ่านมาเกษตรสนใจและสหกรณ์การเกษตรทั้งสองแห่งได้ปลูกจนได้ผลผลิต
นายสมศักดิ์ ศรีอุดทา ประธานสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด เปิดเผยว่ากลางปี 2563 รับพันธุ์ข้าวโพดหวานมาทดลองปลูกได้ผลผลิตดีมากขณะนั้นขายตลาดฝักละ 10 บาท ทำให้เห็นว่ามีโอกาสทางการตลาด จึงติดต่อบริษัทซันสวีท จำกัด ที่รับซื้อข้าวโพดหวานส่งออกมาหารือและนำมาสู่การทำงานร่วมกัน ซึ่งเริ่มปลูกเมื่อปลายปี 2563 ขณะนี้กำลังเริ่มเก็บเกี่ยว ซึ่งนอกจากขายฝักแล้วต้นยังสามารถสับขายส่งเป็นอาหารวัวซึ่งได้ขายในราคา 1,000 -1,200 บาทต่อตัน
นายจตุพร จันทร์พรหม สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหวานส่งโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มทดลองปลูกในฤดูนี้จะเก็บเกี่ยววันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 5 ตันต่อไร่ จากปกติเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 ตัน บริษัทจะรับซื้อประกันขั้นต่ำ 4 บาท ต้นทุนไร่ละ 5 พันบาท หักแล้วเหลือมากกว่า 10,000-20,000 บาทต่อไร่ เพราะนอกจากข้าวโพดหวานที่ขายฝักแล้ว ข้าวโพดหวานแต่ละต้นยังให้ข้าวโพดอ่อนเป็นผลพลอยได้สามารถขายได้ตันละ 4,000 บาท ต้นตันละ 1,000 บาท เมื่อเก็บข้าวโพดแล้วจะทำนาปีต่อ และเมื่อในฤดูนาปรังก็คิดว่าจะปลูกข้าวโพดหวานเช่นเดิมเพราะรายได้ดีกว่าการทำนาปรังหลายเท่า
ด้านนายเฉลิมเกียรติ ดวงทิพย์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมและจัดซื้อหาวัตถุดิบ บริษัท ซันสวีท จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีสัญญารับซื้อราคาประกัน ซึ่งข้าวโพดหวานขณะนี้ตลาดต้องการมาก แต่บริษัทมีกำลังการผลิตเพียง 200,000 ตันต่อปี โดยร้อยละ 90 ส่งออก ไป 60 ประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีเกษตรเข้าร่วมโครงการในหลายจังหวัดประมาณ 80,000-100,000 ไร่ ทั้งนี้ ก่อนจะปลูกบริษัทจะมาช่วยดูเรื่องดินและน้ำก่อนที่จะร่วมทำงานกับเกษตรกร เพื่อให้ผลผลิตออกมาตรงความต้องการของตลาด-สำนักข่าวไทย