กรุงเทพฯ 17 ก.พ. – “นฤมล” รมว.เกษตรฯ มั่นใจ ปี 68 ทุเรียนไทยยังครองส่วนแบ่งตลาดในจีน 57% หลังสั่ง Set Zero ให้ปลอดสารปนเปื้อน ล่าสุดในเดือน ม.ค. ยังคงมีรายงานการใช้สารย้อมสีในทุเรียนส่งออก ขณะนี้แล็ปที่มีความพร้อมมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการตรวจรับรองสำหรับการส่งออก
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2568 มูลค่าการส่งออกออกทุเรียนไทยไปจีนจะเพิ่มขึ้น โดยยังครองส่วนแบ่งตลาดในจีนถึง 57% โดยผู้บริโภคจีนยอมรับทุเรียนไทยมาก ทุเรียนเป็นสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยมากที่สุดจึงจำเป็นจะต้องดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภค
ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยังคงมีรายงานถึงปัญหาในการพบสารปนเปื้อน ตนจึงให้กรมวิชาการเกษตรออกประกาศให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนด และเรียกฟรุตบอร์ดสั่งการเร่งด่วนให้ตรวจสอบสาร Basic Yellow 2 (BY2) แคดเมียม และหนอนในสินค้า พร้อมเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการตรวจสอบที่จะสามารถตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าจะไม่มีสารปนเปื้อนในทุเรียน

ก่อนหน้านี้แล็ปตรวจสอบมี 4 -5 แห่ง ปัจจุบันจำนวนห้องแล็ปเริ่มมีจำนวนมากขึ้น พร้อมที่จะให้ตรวจสอบสินค้าได้แล้ว เพราะได้มอบนโยบายให้กับกรมวิชาการเกษตรในการเร่งตรวจสอบให้มีความเร็วขึ้น และเพิ่มจำนวนแล็ปในการรองรับการตรวจสอบ เพราะทุเรียนถือว่าเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท และเชื่อว่าจะมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงเกษตรฯ มีความพยายามที่จะเปิดตลาดโคเนื้อและโคมีชีวิตไปยังตลาดจีนตั้งแต่ปี 2562 และส่งรายงานให้กับ GACC หน่วยงานของจีน ซึ่งได้มีการสอบถามมายังประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเราก็ได้มีการรายงานให้ทราบถึงความคืบหน้าว่า ประเทศไทยได้มีการเตรียมพื้นที่ค่ายกักกันโรค สำหรับโคมีชีวิตเพื่อสร้างความมั่นใจว่าโคมีชีวิตจะไม่ติดโรคก่อนที่จะส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งพื้นที่กักกันเราได้ใช้พื้นที่จังหวัดเชียงราย และเมื่อระยะเวลาในการกักกันครบ มีการตรวจโรค เราจะนำโคมีชีวิตขนส่งผ่านเส้นทางเดินเรือ ล่องแม่น้ำโขงและขึ้นที่ท่าเรือคลองจีน และอีกช่องทาง คือ ผ่านการขนส่งทางรถไฟ จากกรุงเทพฯ-หนองคาย-สปป.ลาว-จีน ซึ่งทางหน่วยงานจีนได้รับทราบและอยู่ระหว่างการประเมินความเสี่ยง และรอความเห็นจากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC)
ศ.ดร.นฤมล กล่าวถึงนโยบายและภารกิจความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เดิมดูในเรื่องของการผลิต แต่ปัจจุบันด้วยนโยบายตลาดนำ จึงต้องมีความเข้าใจในด้านตลาดมากยิ่งขึ้นด้วย เพื่อขยายตลาดสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดในจีน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายให้เกษตรกรขายสินค้าเกษตรคุณภาพให้กับผู้บริโภคโดยตรง นอกจากนี้ การนำรูปแบบการจองสินค้าล่วงหน้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตล่วงหน้าได้ และขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง
ศ.ดร.นฤมล ยังกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ประมงที่มาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เพิ่งจะลงนามไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยปลากะพงเป็นสินค้าแรกที่จะส่งออกไปยังจีน สำหรับรังนก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อจัดทำมาตรฐาน และโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา หากเปิดตลาดสำเร็จแล้ว
จากการหารือกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีพี เฟรช จำกัด และผู้อำนวยการ ธุรกิจซุปเปอร์มาเก็ตและมินิซุปเปอร์มาร์เก็ต บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารของบริษัทซีพี สาขาปักกิ่ง เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับภาคเอกชนไทยที่ทำธุรกิจในจีนซีพีสามารถนำสินค้าเหล่านี้จากเกษตรกรมาจำหน่ายประเทศจีนต่อไป
บริษัทซีพีได้แชร์ประสบการณ์การนำทุเรียนคุณภาพจากเกษตรกรไทยมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคชาวจีน และการริเริ่มใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มาช่วยกระจายสินค้า การคัดสรรทุเรียนสายพันธ์พิเศษ เพื่อเจาะตลาดพรีเมียม การสร้างแบรนด์และสร้างเอกลักษณ์ทุเรียนไทยให้มีจุดเด่นและน่าสนใจ ซึ่งที่ผ่านมา ซีพีได้ร่วมมือกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง จัดแคมเปญโปรโมตสินค้าเกษตรร่วมกันโดยตลอด รวมถึง ยินดีเป็นหน่วยเอกชนที่สนับสนุนผลักดันเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าเกษตรไทยอย่างแน่นอน. -512 – สำนักข่าวไทย