กรุงเทพฯ 17 ก.ค. – “ณัฐชา” สส. พรรคก้าวไกล รองประธานกมธ. แก้ปัญหาปลาหมอสีคางดำชื่นชมอธิบดีกรมประมงที่กล้าเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ ชี้ชัดแล้วว่า มีผู้นำเข้ารายเดียวและกรมประมงยังไม่เคยได้รับตัวอย่างปลาที่บริษัทขออนุญาตนำเข้า กมธ. ยังคงเรียกร้องให้หาต้นตอที่ทำให้สัตว์น้ำรุกรานต่างถิ่นชนิดนี้แพร่ระบาดให้ได้ ส่วนผู้แทนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังอยากให้กระทรวงเกษตรฯ รับซื้อปลาหมอคางดำ 20 บาทต่อกิโลกรัม
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กทม. พรรคก้าวไกล ฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ในคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎรเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำของกรมประมง โดยกล่าวชื่นชมนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงว่า กล้าหาญที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าปลาหมอคางดำซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 14 ปีแล้ว รวมถึงความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด
จากข้อมูลของกรมประมงชี้ชัดแล้วว่า กรมประมงอนุญาตให้บริษัทแห่งหนึ่งนำเข้าปลาหมอคางดำเพียงรายเดียว อีกทั้งข้อมูลจากการชี้แจงของบริษัทที่ระบุว่า ได้ยุติการวิจัยและส่งตัวอย่างปลาให้กรมประมงแล้ว กรมประมงไม่เคยได้รับ กมธ. ยังคงเรียกร้องให้สืบหาต้นตอที่ทำให้สัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดนี้รุกรานระบบนิเวศ รวมถึงสร้างผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้านและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับว่า จะสืบสาเหตุเพื่อสร้างกระจ่างความกระจ่างแก่สังคมให้ได้ แต่ฟังแล้ว โอกาสที่จะหาต้นตอและเอาผิดตามกฎหมายต่อผู้ก่อผลกระทบนั้น ดูริบหรี่ กมธ. จะยื่นญัตติด่วนต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อเชิญทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาร่วมแก้ไขปัญหานี้
นายคัมภีร์ ทองเปลว ผู้แทนเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลองเป็นผู้แทนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดสมุทรสงครามกล่าวว่า ต้องการให้การเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำใน 16 จังหวัดที่พบการระบาดโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงประมงพื้นบ้านที่เสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
สำหรับที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้กรมประมงกำหนดราคารับซื้อ 15 บาทต่อกิโลกรัม ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง แต่เห็นว่า ราคาที่เหมาะสมคือ 20 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งจะจูงใจให้คนจำนวนมากมาร่วมกับจับออกจากแหล่งน้ำ ตอนนี้ยอมรับในราคานี้ไปก่อนเพื่อให้โครงการเริ่มต้นได้ตามที่ร้อยเอกธรรมนัสจะให้ดำเนินการภายในสัปดาห์หน้า แต่หากทำไปแล้ว ไม่คุ้มค่ากับค่าแรงและเครื่องมือ จะเรียกร้องเพิ่มให้เป็นกิโลกรัมละ 20 บาท . -512 – สำนักข่าวไทย