กรุงเทพฯ 18 เม.ย. – ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เผยเร่งประสานผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการตามข้อสั่งการของรมว. ธรรมนัสที่ให้แก้ปัญหาเบื้องต้นให้เกษตรกรจากเหตุน้ำเค็มรุกล้ำคลองประเวศฯ และคลองสาขา ขณะนี้กรมชลประทานเร่งสูบน้ำเค็มออกและระบายน้ำจืดไล่น้ำเค็ม จนค่าความเค็มทรงตัว คาดใน 2-3 วันนี้จะชัดเจนว่า ความเสียหายของเกษตรกรรุนแรงจนถึงขั้นต้องประกาศเขตภัยพิบัติหรือจะฟื้นฟูผลผลิตทางการเกษตรเสียหายอย่างไร
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกคลองประเวศบุรีรมย์ ตามข้อสั่งการของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ห่วงใยเกษตรกรและประชาชน
ล่าสุดได้รับรายงานจากกรมชลประทานว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขาต่างๆ ตั้งแต่บริเวณประตูระบายน้ำพระธรรมราชา ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ไปจนถึงสถานีสูบน้ำท่าถั่ว อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า ค่าความเค็มในคลองสาขาเริ่มลดลงและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยกรมชลประทานได้ปิดกั้นและก่อสร้างทำนบกึ่งถาวร (โครงสร้างเหล็ก) ทดแทนทำนบดินชั่วคราวเดิมเพื่อช่วยป้องกันปัญหาน้ำเค็มไหลย้อนเข้าคลองได้อย่างถาวร พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำเค็มออกจากคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขาต่างๆ ออกสู่แม่น้ำบางปะกงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มเติม แล้วลำเลียงน้ำจากพื้นที่ตอนบนผ่านประตูระบายน้ำบึงฝรั่งเพื่อลำเลียงน้ำไปสู่คลองนครเนื่องเขตใช้ช่วยเจือจางน้ำเค็ม พร้อมกันนี้ยังได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำประปา ช่วยเหลือพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากบางพื้นที่ระบบประปาหมู่บ้านไม่สามารถสูบน้ำจากคลองมาผลิตทำน้ำประปาได้
นอกจากนี้ยังได้วางแผนก่อสร้างทำนบดินชั่วคราวบริเวณคลองนครเนื่องเขตเพื่อยกระดับน้ำให้ไหลเข้าคลองเปร็งและคลองประเวศฯ เพื่อช่วยเจือจางน้ำเค็มให้เร็วที่สุด ตลอดจนกำจัดผักตบชวาในคลองเพื่อลดการเน่าเสียของน้ำในคลอง หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิตได้ตลอดเวลา
จากการสำรวจความเสียหายของเกษตรกรเบื้องต้นพบว่า พื้นที่เกษตรด้านพืชและการเลี้ยงปลาในกระชังได้รับความเสียหาย จึงสั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมประมงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรวบรวมความเสียหายของเกษตรเสนอมายังกระทรวงเพื่อจะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือฟื้นฟู หากพบความเสียหายรุนแรงและเป็นวงกว้าง จะประสานผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเพื่อจ่ายเงินเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลัง
กรมส่งเสริมการเกษตรรายงานว่า ในจังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่เกษตรด้านพืชได้รับผลกระทบ 3 อำเภอคือ อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และอำเภอบางปะกง โดยในอำเภอบ้านโพธิ์ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 ตำบล เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1 ราย พื้นที่ 3 ไร่ ชนิดพืชสวนผสม อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 6 ตำบล เกษตรกรได้รับผลกระทบ 11 ราย พื้นที่รวมประมาณ 2 ไร่ 3 งาน ชนิดพืชผัก และอำเภอบางปะกง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 ตำบล เกษตรกรได้รับผลกระทบ 6 ราย พื้นที่รวมประมาณ 2 ไร่ ชนิดพืชผัก และไม้ประดับ
ส่วนสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการรายงานว่า ผลการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น ทางด้านพืชยังไม่ส่งผลเสียหายต่อพืชโดยตรง เนื่องจากเกษตรกรปลูกไม้ผลได้แก่ มะม่วง มะพร้าว และกล้วย ตามคันบ่อเลี้ยงปลา โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรอำเภอติดตามสำรวจพื้นที่เสียหายในทุกตำบลของอำเภอบางบ่ออย่างต่อเนื่องแล้ว
สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 เกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือ ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย พื้นที่เป็นพื้นที่เสียหายจริง อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ โดยจะช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ในอัตรา ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่ละพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ และไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตรียมจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะเวลา 3 วัน
หากปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีไม่เพียงพอที่จะระบายมาเจือจางค่าความเค็มอย่างต่อเนื่อง จะพิจารณาขอใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มาใช้สนับสนุนเพิ่มเติมต่อไป ในระหว่างนี้กรมควบคุมมลพิษจะตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะทำการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
จากการตรวจสอบพบว่า จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในขณะนี้ ทางจังหวัดฉะเชิงเทรากำลังพิจารณาประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยเพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งเกษตรกรและชาวประมงที่เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้สทนช. จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกล้ำ จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสมุทรปราการ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการบำบัดคุณภาพน้ำในคลองต่างๆ ซึ่งใช้สำหรับทั้งการอุปโภคบริโภค การเกษตรและการประมงให้กลับสู่สภาวะปกติ โดยจะเร่งรัดดำเนินการเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง. – 512 – สำนักข่าวไทย