กรุงเทพฯ 6 ต.ค.- รมว. ธรรมนัสสั่งกรมชลประทานให้เตรียมรับน้ำเหนือที่จะไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดกรมชลประทานแบ่งน้ำด้านเหนือกทม. ออกแม่น้ำบางปะกง ปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เชื่อมั่นกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำได้ ส่วนลุ่มน้ำชี-มูลให้เพิ่มการหน่วงน้ำ ก่อนไหลลงไปสมทบที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน พร้อมย้ำให้ติดตามสถานการณ์ฝนที่จะยังตกต่อเนื่องถึง 9 ตุลาคมนี้
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้กำชับให้กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับน้ำเหนือที่จะไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมมอบหมายให้นายชูชาติ รักจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์น้ำเนื่องจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย
ล่าสุดกรมชลประทานทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้แจ้งเตือนประชาชนริมน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 20-60 เซนติเมตร เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ภาคเหนือจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้นก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์
จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่วันที่ 6-9 ตุลาคม จะยังคงมีฝนตกหนักและหนักมากบางแห่ง อาจทำให้มีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำในแม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่สถานี C.2 อำเภอเมืองจังหวัดนครสวรรค์ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,500-1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม.ต่อวินาที) ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงมาสมทบกับน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรัง อีกประมาณ 100 ลบ.ม.ต่อวินาที ก่อนจะไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 1,600-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที
กรมชลประทานจะรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเต็มศักยภาพ ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะควบคุมให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,400-1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลให้พื้นที่ด้านท้ายเขื่อน มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 20-60 เซนติเมตร ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง, คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิดตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนริมน้ำบางแห่งได้
สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา วันนี้ (6 ต.ค.66) ที่สถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,669 ลบ.ม./วินาที คาดว่า ระดับน้ำจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นในอีก 3 วัน เนื่องจากมีปริมาณน้ำทางตอนบนไหลลงมาสมทบ กรมชลประทาน ได้ทำการพร่องน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น โดยจะหน่วงน้ำไว้หน้าเขื่อนให้ได้มากที่สุด พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์
ขณะนี้เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำที่ 1,479 ลบ.ม/วินาที หากปริมาณน้ำเหนือเพิ่มสูงขึ้นและจะส่งผลต่อปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที กรมชลประทานจะประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ทราบในระยะต่อไป
สำหรับการป้องกันกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญนั้น กรมชลประทานเร่งผันน้ำด้านเหนือกทม. ออกแม่น้ำบางปะกง เนื่องจากฝนที่ตกต่อเนื่องในระยะนี้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาที่เป็นจุดเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องแบ่งการระบายน้ำ โดยทางด้านฝั่งตะวันออก จะระบายน้ำผ่านสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ตามคลองต่างๆ ได้แก่ สถานีสูบน้ำกลางคลองหกวาสายล่าง สถานีสูบน้ำหนองจอก และสถานีสูบน้ำประเวศ และสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ซึ่งได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟลเพิ่มเติม เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำบางส่วนจากพื้นที่ตอนบนจะไหลผ่านคลองพระองค์ไชยานุชิต ก่อนจะระบายลงสู่อ่าวไทยตามลำดับ
ส่วนทางด้านฝั่งตะวันตก ได้ใช้คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านปตร.กึ่งถาวรปากคลองรังสิต เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่กรุงเทพมหานคร และรองรับปริมาณน้ำจากฝนที่จะตกลงมาเพิ่ม ช่วยป้องกันน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูลซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปติดตามสถานการณ์ในช่วงบ่ายวันนี้ กรมชลประทานรายงานว่า ฝนตกในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำชีและมูลตอนบน เพิ่มสูงขึ้น โดยที่เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ได้ใช้เขื่อนมหาสารคาม และเขื่อนวังยาง หน่วงน้ำในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำชี ในขณะที่เขื่อนลำปาว มีการปรับลดการระบายน้ำลง เนื่องจากปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเริ่มลดลงทำให้สถานการณ์น้ำด้านท้ายเขื่อน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในลุ่มน้ำมูล ได้เพิ่มการหน่วงน้ำที่เขื่อนราษีไศล พร้อมเร่งระบายน้ำในพื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำทั้งสองอย่างต่อเนื่องทำให้ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ M7 จ.อุบลราชธานี มีระดับน้ำอยู่ที่ 112.65 ม. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวย้ำว่า กำชับกรมชลประทานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน.-สำนักข่าวไทย