5 พ.ย. – FAO ประกาศให้ “ระบบการเลี้ยงควายปลักพื้นที่ทะเลน้อย” เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร แห่งแรกของไทย
กรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ประกาศให้ “ระบบการเลี้ยงควายปลักพื้นที่ทะเลน้อย” เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร แห่งแรกของไทย
โดยเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ทีมงานสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม ได้รับแจ้งข่าวดังกล่าวนี้ จากนาย Yoshihide ENDO ฝ่ายเลขานุการมรดกโลกทางการเกษตร ว่าข้อเสนอโครงการ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง และ จ.สงขลา” ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) ของ FAO ประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Global Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) นับเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย
หลักการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรโลกได้ต้องมีองค์ประกอบครบตามหลักเกณฑ์ 5 ข้อ คือ ความมั่นคงด้านอาหาร ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี, ความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร, ระบบความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีมาแต่ดั้งเดิม, วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม, ลักษณะภูมิทัศน์ และภูมิทัศน์ทางทะเล
เมื่อพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรโลก ทำให้เกษตรกรและชุมชนได้รับประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว เพิ่มโอกาสทางการเกษตร การจ้างงาน รายได้เพิ่มขึ้น และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมีรายได้หลักจากการขายควาย ประกอบกับการทำประมง ปลูกข้าว และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระจูด
ด้านระบบนิเวศ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในทะเลน้อยมีปริมาณสูง ควายน้ำจะดำน้ำลงไปกินหญ้าใต้น้ำและพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่าย กระจูดซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในการกำจัดวัชพืช และมูลของควายยังเป็นอาหารให้กับพืชและแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารปลา
ด้านวัฒนธรรม ควายเป็นศูนย์รวมของความเชื่อ มีพิธีกรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับควาย และทางเดินของควาย นอกจากจะสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงาม ยังช่วยป้องกันการเกิดไฟป่าอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย