23 ต.ค. – SPR หรือ Strategic Petroleum Reserve ซึ่งเป็นระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ ที่กระทรวงพลังงานกำลังผลักดันตามนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ซึ่งระบบนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลใช้เพื่อป้องกันและจัดการกับความเสี่ยงด้านพลังงาน ทำให้ประเทศมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงาน
แนวคิดของกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เตรียมยกเครื่องโครงสร้างพลังงานไทยด้วยเร่งผลักดัน SPR เพื่อสำรองน้ำมันโดยรัฐบาลให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ 90 วันตามมาตรฐานสมาชิกส่วนใหญ่ของ IEA (International Energy Agency) หรือ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ โดยระบบปัจจุบันที่เป็นอยู่เอกชนจะเป็นผู้สำรองน้ำมันซึ่งแม้จะมีน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์เพียงพอต่อการใช้ได้ 25-36 วัน แต่ภาครัฐไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการได้มากนัก นอกจากจะมีเหตุอันจำเป็น เช่น เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก
ขณะนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และศึกษารูปแบบและวิธีการสำรองน้ำมันในต่างประเทศ เพื่อวางรูปแบบของ SPR ที่จะเกิดขึ้นให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยมากที่สุด
แนวคิดเบื้องต้นของนโยบายการจัดตั้ง SPR คือ ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการเก็บสำรองน้ำมัน เพื่อสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการราคาขายปลีกในประเทศให้ลดลงในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกผันผวนสูง รูปแบบคล้ายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยที่กองทุนน้ำมันฯ เรียกเก็บเงินเข้าออกและปรับอัตราการจัดเก็บน้ำมันแต่ละประเภทตามความเหมาะสมในแต่ละช่วง แต่ SPR จะใช้น้ำมันสำรองที่มีอยู่ในคลังออกมาจำหน่ายเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันแทน
อย่างไรก็ดี SPR แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง โดยที่ SPR จะเกิดประโยชน์กับประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรัฐเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง และมีเพียงพอใช้ในประเทศได้ถึง 90 วัน ทำให้รัฐสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศ เพื่อสามารถกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สะท้อนต้นทุนอย่างแท้จริง โดยผลลัพธ์สำคัญคือประชาชนซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงในราคาที่เป็นธรรม ขณะเดียวกัน ข้อจำกัดของ SPR ก็ยังมีอยู่ เช่น เรื่องต้นทุน รูปแบบการจัดการจะเป็นอย่างไร จำนวนวันในการสำรองน้ำมันให้เพียงพอใช้ในประเทศควรยึดหลักเกณฑ์ใด เพราะหากใช้ตามมาตรฐาน IEA ขนาดเศรษฐกิจและปริมาณการใช้และการนำเข้าน้ำมันของไทยยังมีขนาดเล็กกว่ามาก จะต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มทุนประกอบด้วย
ช่วงต่อจากนี้ไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคงต้องเริ่มทบทวนปรับบทบาทครั้งใหญ่เพื่อรองรับกับโครงสร้างใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงหากฎหมายการจัดตั้ง SPR ผ่านฉลุย ซึ่งต้องรอวัดฝีมือผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะมากุมบังเหียนว่าจะเป็นใคร . -116 สำนักข่าวไทย