10 ก.ย. – บสย. ผนึก ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม ตั้ง “ศูนย์ช่วยเพื่อน SMEs” ปั้นฮับหนุน SMEs พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ครบวงจร
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (มรพส.) จัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเพื่อน SMEs บสย.-มรพส.” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พร้อมพัฒนานักศึกษาให้เป็น Startup ตลอดจนพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัย ยกระดับสู่การเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ร่วมด้วย นางดุสิดา ทัพวงษ์ รองผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สายงานบริหารช่องทางและพัฒนาผู้ประกอบการ บสย. และ รศ.ดร.ประสิทธิชัย นรากร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มรพส. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
นายสิทธิกร เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการนำจุดแข็งของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือ SMEs ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดย บสย. จะนำความเชี่ยวชาญด้านการเงิน และความเชี่ยวชาญในการเป็นที่ปรึกษาของศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม โดย “ศูนย์ช่วยเพื่อน SMEs บสย.-มรพส.” จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) เติมความรู้ เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย.
ปัจจุบัน บสย. มีศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน สำนักเขตภาคเหนือตอนล่าง ดูแลพื้นที่ครอบคลุม 10 จังหวัด ประกอบด้วย พิษณุโลก, พิจิตร, กำแพงเพชร, ตาก, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, นครสวรรค์, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, ชัยนาท พร้อมให้คำปรึกษาด้านบริหารการเงินและธุรกิจ การเข้าถึงสินเชื่อ การแก้ปัญหาหนี้ และให้ความรู้ทางการเงิน ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมกันนี้ ยังมีโครงการค้ำประกัน PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” วงเงินค้ำประกัน 50,000 ล้านบาท รองรับในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 – 4 ปีแรก วงเงินค้ำประกัน เริ่มต้นตั้งแต่ 1 หมื่นบาท สูงสุด 40 ล้านบาท
ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” สามารถติดต่อที่สำนักงานเขตภาคเหนือตอนล่าง หรือสามารถลงทะเบียนได้ที่ LINE OA : @tcgfirst พร้อมบริการตรวจสุขภาพทางการเงิน พร้อมจองคิวขอรับคำปรึกษาทางการเงิน ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับเป้าหมายความร่วมมือในครั้งนี้ จะครอบคลุมใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. ช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. 2. พัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ด้านการประกอบธุรกิจ ก้าวสู่ Startup ด้วยการสร้างประสบการณ์ผ่านการฝึกงานกับผู้ประกอบการในเครือข่ายพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ประกอบการ SMEs และนักศึกษา 3. ยกระดับศักยภาพของบุคลากรของ มรพส. เพื่อสร้างที่ปรึกษาในพื้นที่ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในท้องถิ่น โดยทีมงานและผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ของ บสย.
“บสย. มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม รวมถึงการสร้างนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ ก้าวสู่การเป็น Startup ที่มีศักยภาพ ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต เป็นที่มาของความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพทั้งในด้านการผลิตบุคลากร การสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิดและประเทศชาติ รวมทั้งมีแนวทางการนำความรู้ในมหาวิทยาลัยออกไปพัฒนาให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่” นายสิทธิกร กล่าว
ผศ.ดร.ชุมพล กล่าวว่า มรพส. เป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และพัฒนาผู้ประกอบการ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ บสย. ในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในเครือข่ายของมหาวิทยาลัย ให้มีความรู้ทางด้านการตลาดและการเงิน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งตอบโจทย์นโยบายของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการดูแลผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง
ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายให้ “ศูนย์ช่วยเพื่อน SMEs บสย.-มรพส.” เป็นหน่วยงานกลางที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในด้านต่างๆ แบบเบ็ดเสร็จครบวงจร โดยรวบรวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการมาไว้ในจุดเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือ SMEs พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างให้เติบโตมากยิ่งขึ้น . – 116 สำนักข่าวไทย