กรุงเทพฯ 17 ส.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมย้ำให้เจ้าหน้าที่คุมเข้มท่าเข้า-ออกนำเข้าและส่งออกสัตว์ 47 แห่งทั่วประเทศ แจงที่ผ่านมาลุยตรวจสอบเพื่อป้องกันการกระทำผิดอย่างเข้มงวด
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยว่า ได้สั่งการด่วนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ได้รับแจ้งมีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจำนวนมากจากด่านชายแดนเพื่อนบ้าน โดยสำแดงเอกสารเท็จปลอมแปลงว่า เป็นรายการสินค้าชนิดอื่นนั้น พร้อมให้รายงานผลเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าซากสุกรจากต่างประเทศ
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการในการดำเนินการมาอย่างเข้มงวดต่อเนื่องในการตรวจสอบและการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่อาจติดมากับสัตว์หรือซากสัตว์ โดยปฏิบัติภายใต้มาตรา 31 มาตรา 32 และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติระบุให้ผู้นำเข้าราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมายทุกครั้ง กำหนดวิธีการขออนุญาตและออกใบอนุญาต กำหนดให้ต้องนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้า ออก หรือผ่านที่ท่าเข้า-ท่าออกซึ่งมีทั้งหมด 47 แห่ง กำหนดให้ต้องทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ และเครื่องหมายประจำตัวสัตว์สำหรับซากสัตว์สัตว์ในขั้นตอนการนำเข้า และมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ ซึ่งหากประเทศต้นทางมีโรคระบาดหรือสงสัยว่ามีโรคระบาด อธิบดีกรมปศุสัตว์จะประกาศชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านจากประเทศนั้น แต่หากผู้นำเข้าสำแดงเป็นสินค้าชนิดอื่นที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายของกรมปศุสัตว์ จะไม่ผ่านกระบวนการนำเข้าของกรมปศุสัตว์ จึงสั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ท่าเข้าท่าออกทุกแห่งทั่วประเทศ ประสานการเข้าตรวจสอบอย่างเข้มงวดกับกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำโครงการเข้าตรวจสอบสถานที่พักซากสัตว์ทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำเข้าซากสัตว์จากต่างประเทศ และนำมาซุกซ่อนไว้ตามห้องเย็นต่างๆ ผลในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการตรวจสอบห้องเย็นต้องสงสัย จำนวน 387 ครั้ง มีปริมาณซากสุกรที่ได้รับการตรวจสอบ จำนวน 42,935,925 กิโลกรัม สำหรับกรณีการเคลื่อนย้ายซากสุกรภายในประเทศ สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัด หรือ ปศุสัตว์อำเภอ ผู้ออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสุกร ตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเข้มงวด โดยต้องมีต้องมีเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ และสั่งการด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศเข้มงวดตรวจสอบการเคลื่อนย้ายซากสุกร นอกจากนี้ได้จัดทำเครื่องหมายประจำตัวสำหรับซากสัตว์ที่นำเข้า เพื่อใช้ตรวจสอบซากสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าดังกล่าวได้ จึงทำให้แยกแยะกับซากสัตว์ที่ลักลอบนำเข้าได้ ง่ายต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตั้งชุดปฏิบัติงานสุนัขดมกลิ่นตรวจสอบการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ในพื้นที่สนามบินทุกแห่ง เพื่อตรวจสอบผู้โดยสารที่นำซากสัตว์เข้าราชอาณาจักรอย่างผิดกฎหมาย ปฏิบัติงานเข้มงวดตรวจสอบการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านสุกรและซากสุกรในพื้นที่ชายแดนประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายในความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ โดยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ (ซากสัตว์) จากต่างประเทศได้ทั่วราชอาณาจักร
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อร่วมมือในการป้องกันการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ทั้งทางบก ทางน้า และทางอากาศตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561
สำหรับผลปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562-2565 กรมปศุสัตว์ได้จับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าซากสุกรรวม 15 คดี ยึดทำลายซากสุกรของกลาง 112,279.785 กิโลกรัม มูลค่าของกลางกว่า 21,001,301 บาท ตรวจยึดซากสุกรตามพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนและบริเวณท่าอากาศยานจำนวน 1,172 ครั้ง ยึดทำลายซากสุกรของกลาง 92,116.864 กิโลกรัม มูลค่าของกลางกว่า 54,743,256 บาท โดยในปี 2565 มีการดำเนินการทางกฎหมาย 8 ราย ยึดซากสุกร 108,734 กิโลกรัม มูลค่าของกลาง 20,593,634 บาท ทำลาย 126,966 กิโลกรัม
ทั้งนี้ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ www.dld.go.th หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 หรือ application DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย