กรุงเทพฯ 1 ส.ค.-ชุลมุนก๊าซไทย ล่าสุด ซอติก้า ประเทศเมียนมา ปิดซ่อมฉุกเฉินเหตุการณ์รอยรั่วที่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ หยุดส่งก๊าซ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นเวลา 15 วัน ด้าน กฟผ.สั่งใช้ดีเซล-ก๊าซฯตะวันออก ทดแทน
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. แจ้งว่า บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) สำนักงานย่างกุ้ง ซึ่งเป็นบริษัทย่อยว่า แจ้งว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เกิดรอยรั่วที่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ของโครงการซอติก้า ประเทศเมียนมา ส่งผลให้แรงดันในท่อส่งก๊าซฯ ลดลง ขณะนี้ ปตท.สผ.อ. ได้ปิดวาล์วของท่อก๊าซฯ และหยุดการส่งก๊าซฯ จากโครงการซอติก้ามายังประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบร่องรอยจากการระเบิดหรือเพลิงไหม้ โดย ปตท.สผ.อ. กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุของการเกิดรอยรั่ว และเร่งเข้าพื้นที่เพื่อซ่อมแซมรอยรั่วดังกล่าว ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาซ่อมแซมประมาณ 2 สัปดาห์ หากมีความคืบหน้า จะรายงานให้ทราบต่อไป
ด้าน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า จากเหตุการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวทำให้ ก๊าซฯมาเมียนมาทั้งแหล่ง ซอติก้า ,ยาดานา ,เยตากุน รวม 600 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วันต้อง หยุดทั้งหมด เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากนั้น ก๊าซฯจากเมียนมาได้เข้าระบบส่งมายังโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก หยุดส่งเพียงก๊าซฯจากแหล่งซอติก้า 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็นเวลา 15 วัน ทำให้ โรงไฟฟ้าภาคตะวันตกต้องใช้ดีเซลและก๊าซฯจากแหล่งตะวันออกมาทดแทน ส่วนจะมีต้นทุนเพิ่มมากน้อยเพียงใด ก็จะมาดูรายละเอียดต่อไป ซึ่งต้องยอมรับว่าในปีนี้ เป็นปีชุลมุนของเชื้อเพลิงก๊าซ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของไทยปรับสูงขึ้นมาก ทั้งมาจากเหตุการณ์ก๊าซแหล่งเอราวัณลดต่ำกว่าแผนงาน 500-600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ราคาก๊าซแอลเอ็นจีนำเข้าก็พุ่งสูงขึ้นจากเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน
ในขณะเดียวกัน แหล่งก๊าซธรรมชาติพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) หยุดจ่ายก๊าซฯ เพื่อซ่อมบำรุงประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1-14 สิงหาคม 2565 โดย กฟผ.ยืนยันเตรียมพร้อมรองรับการผลิต ไม่ส่งผลต่อการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ พร้อมรณรงค์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคใต้ร่วมประหยัดพลังงานในช่วงเวลา 18.00-21.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด โดยด้านเชื้อเพลิง ได้สำรองปริมาณน้ำมันดีเซลไว้สำหรับเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะนะให้เพียงพอ พร้อมประสานโรงไฟฟ้าอื่น ๆในภาคใต้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้ากระบี่ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ และโรงไฟฟ้า SPP ให้เตรียมเดินเครื่องเต็มกำลัง การผลิต ทำให้มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,914 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ที่คาดการณ์ในช่วงเวลาการหยุดจ่ายก๊าซฯ ไว้ประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ และในกรณีฉุกเฉินสามารถรับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียได้ทันที พร้อมกับมีการส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงจากภาคกลางมายังภาคใต้อีก 800-1,100 เมกะวัตต์ ผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ (kV) บางสะพาน2-สุราษฎร์ธานี2-ภูเก็ต3 อีกทั้งตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและอุปกรณ์สำคัญให้พร้อมใช้งาน รวมถึงงดการทำงานบำรุงรักษาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง.-สำนักข่าวไทย