กรุงเทพฯ 27 ก.ค. – กทม. จับมือเครือข่าย ชวนร่วมกิจกรรม “บางกอกวิทยา” เปลี่ยนกรุงเทพให้เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ ตลอดเดือนสิงหาคมนี้
(27 ก.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวกิจกรรมประจำเดือนสิงหาคม 2565 “เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ณ บริเวณหน้าห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ภายหลังการประชุมสรุปกิจกรรม ซึ่งมี นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางสาวอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด และนายธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน อุปนายกสมาคมไทยสตาร์ทอัพ ร่วมให้ข้อมูล
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับ 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา 2 เดือน เราทำเรื่องศิลปะเยอะ คือ ดนตรีในสวน และหนังกลางแปลง แต่วิสัยทัศน์เราคือเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานศิลปะโดยตรง อีกทั้งยังเล็งเห็นว่างานวิทยาศาสตร์ก็มีความสนุกได้ไม่แพ้งานศิลปะ ท่านรองผู้ว่าฯ ศานนท์ จึงได้คิดโจทย์ออกมาเป็น “บางกอกวิทยา” ซึ่งเหมือนกับชื่อโรงเรียน เปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่
“กรุงเทพฯ ก็เหมือนกับห้องเรียนขนาดใหญ่ เราแปลงห้องเรียนวิทยาศาสตร์จากภายในห้องเรียนมาอยู่ทั้งกรุงเทพฯ จะมีการจัดงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ โดยให้ทั้งความรู้ ความสนุก และความบันเทิง ระยะเริ่มต้นนี้ เรามีภาคีเครือข่าย 4 ราย ได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด (Techsauce) และสมาคมไทยสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ เรายังเปิดรับหน่วยงานที่ต้องการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเพิ่มเติมด้วย” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า เราอยากให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ และเชื่อว่า “บางกอกวิทยา” ที่จัดร่วมกับ กทม. จะทำให้ทุกท่านได้พบกับความสนุกสนานจากวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน เราอยากให้ทุกท่านเปิดใจ เข้ามาลองดู เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ได้น่ากลัว และวิทยาศาสตร์ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ทุกท่านที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมจะมีความรู้สึกที่ดีขึ้นกับวิทยาศาสตร์ สามารถนำวิทยาศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิต ในการพัฒนาชุมชน และในการพัฒนาประเทศ แล้วเราเชื่อว่าเราจะร่วมมือกันทำวิทยาศาสตร์ให้สนุกสนานได้
“นอกจากนี้ ทาง อพวช. ยังมีพื้นที่ เดอะ สตรีท รัชดา เราเป็นจัตุรัสวิทยาศาสตร์ และเราพร้อมที่จะร่วมมือกับ กทม. ในการเริ่มบางกอกวิทยาให้เร็วขึ้น ซึ่งได้เรียนท่านผู้ว่าฯ ไปว่า ถ้าอาทิตย์หน้าพร้อม เราสามารถเริ่มได้เลย เรามีกิจกรรมที่อยู่ในมือแบบง่าย ๆ สนุกสนาน และให้คนกรุงเทพมีส่วนร่วมกับ ‘บางกอกวิทยา’ ได้เลย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการถ่ายภาพ อาจจะกำหนดให้ถ่ายภาพอะไรก็ได้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติรอบ ๆ ตัว ซึ่งเดี๋ยวทีมงานจะกำหนดธีมกัน แล้วก็ประกวดกันเลย มีติดแฮชแท็ก ให้รางวัล” ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าว
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ Maker Space ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับงานเกี่ยวกับนวัตกรรม (innovation) เป็นเหมือนห้องปฏิบัติการที่คนสามารถมาสร้างหรือประดิษฐ์สิ่งของได้ เช่น มีโรงไม้ เลื่อย เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) ที่สามารถพิมพ์ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ออกมาได้ มีอุปกรณ์ตัด เป็นต้น ในต่างประเทศที่มีศูนย์นวัตกรรมจะต้องมี Maker Space เพื่อให้คนสามารถนำไอเดียมาผลิตเป็นสิ่งของได้ เอกชนของเมืองไทยก็มีอยู่ ในอนาคต กทม.อาจจะสร้าง Maker Space เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน สามารถมาผลิตสิ่งของได้ เพราะคนทั่วไปไม่สามารถซื้อ 3D Printer ได้ แต่จะสามารถมาแชร์อุปกรณ์ส่วนกลางได้ เป็นการเปิดเวทีให้คนสามารถนำไอเดียมาพัฒนาเป็นสิ่งของที่จับต้องได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จุดประกายความฝันที่กทม.ตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นต่อไป
ด้านการบูรณาการเรื่องวิทยาศาสตร์ให้เข้ากับหลักสูตรของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า กิจกรรมที่ สวทช. จะจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์เด็ก จะมีการสอนเรื่องของ coding ซึ่งเรามองว่าหลักสูตรต่าง ๆ ของกทม.ควรจะเพิ่มเรื่องของ coding และ ai เข้าไป เบื้องต้นคือลองดูผลตอบรับจากกิจกรรมที่จะจัดขึ้นก่อนว่าจะสามารถเข้าในหลักสูตรใดได้บ้าง ส่วนกิจกรรมที่ อพวช. จัดขึ้น เราจะให้เด็กในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครร่วมกิจกรรมที่สามย่านมิตรทาวน์ด้วย โดยเลือกนักเรียนห้องวิทยาศาสตร์หรือนักเรียนที่มีความสนใจไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้
“สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ กทม.ไม่ได้เก่งวิทยาศาสตร์ แต่กทม.มีพันธมิตรที่เก่ง การจะทำงาน ‘บางกอกวิทยา’ จึงต้องหาแนวร่วม เรามีสถานที่ เราเก่งเรื่องกฎระเบียบ เพราะฉะนั้น เราต้องหาคนที่เก่ง หาพันธมิตรที่สามารถให้เนื้อหาที่ตอบโจทย์ประชาชนได้ และระยะต่อไปเราจะต้องพัฒนาข้อมูลพิพิธภัณฑ์เด็กให้มีความอัปเดต และหาพันธมิตรเก่ง ๆ เข้ามาช่วย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย
สำหรับกิจกรรม “บางกอกวิทยา” คือ เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็น 1 ใน 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพให้เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ สร้างกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดหรือต่างประเทศสามารถเข้าร่วม เป็นการกระตุ้นยอดขายจากงานเทศกาล เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
“บางกอกวิทยา” มุ่งเน้นเปิดพื้นที่เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เป็นเรื่องสนุกใกล้ตัวแก่ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน
● ตารางกิจกรรมโดยสังเขปมีดังนี้
• ต้นเดือนสิงหาคม (ยังไม่ระบุวัน) กิจกรรม Kick off บางกอกวิทยา ณ เดอะสตรีท รัชดา เขตดินแดง
• วันที่ 17-21 ส.ค. 65 กิจกรรม Science Carniwow โดย อพวช. ณ สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน
• วันที่ 20-21 ส.ค. 65 กิจกรรม KIDBRIGHT โดย สวทช. ณ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครแห่งที่ 1 (จตุจักร) เขตจตุจักร
• วันที่ 19-25 ส.ค. 65 กิจกรรม Inoovation Week ได้แก่
– 19 ส.ค. 65 กิจกรรม Techbite 4.0 Summer 2022 Demo Day ณ KX ศูนย์บริการทางการศึกษาในเมือง กรุงธนบุรี เขตคลองสาน
– 23 ส.ค. 65 กิจกรรม Fight to Web 3.0 (รอประกาศสถานที่)
– 24 ส.ค. 65 กิจกรรม Envisioning the Future ณ Gaysorn เขตปทุมวัน โดย Techsauce
– 23-25 ส.ค. 65 กิจกรรม Hack BKK โดย TSTA ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน
• วันที่ 26-27 ส.ค. 65 กิจกรรม Techsauce Global Summit 2022 โดย Techsauce ณ ICONSIAM เขตคลองสาน .-สำนักข่าวไทย