กรุงเทพฯ 26 ก.ค.- วงเสวนาศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ชี้สูบกัญชาเป็นประจำนานเป็นปีส่งผลไอคิวต่ำ สมองเสื่อม เนื้อสมองฝ่อ ซึมเศร้า จิตหลอน ทั้งยังสร้างสารก่อมะเร็งมากกว่าสูบบุหรี่ และกระตุ้นให้เสียชีวิตกะทันหันได้ เผย 3 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อร่างกัญชาเสรี พบเด็กเยาวชนทั่วประเทศสูบกัญชาเพิ่มขึ้นมากถึง 2 เท่า ผู้ป่วยในโรคที่เกิดจากสารเสพติดเพิ่มขึ้น 40%
ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสวนาวิชาการและการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัย และนักวิชาการการเสพติด มีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ที่โรงแรมแชงกรี-ลา เขตบางรัก
ศ.นพ.สิริชัย ชยสิริโสภณ นักประสาทวิทยา และนักวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ จากรัฐ California USA กล่าวว่า ไม่ว่าจะสูบกัญชาหรือบุหรี่ สิ่งที่เหมือนกันคือมีการเผาไหม้และมีควัน ควันที่เข้าสู่ปอด มีน้ำมันดิน หรือทาร์ ซึ่งน้ำมันดินจากการเผาไหม้ของการสูบกัญชาเข้าสู่ปอด พบมากกว่า 4 เท่าของการสูบบุหรี่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนน้ำหนักที่เท่ากัน เหตุผลเพราะการสูบกัญชา ต้องสูบเข้าปอดลึกกว่าบุหรี่ และการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากการสูบกัญชา ส่งผลสร้างสารก่อมะเร็งมากกว่าสูบบุหรี่
อาการของผู้เสพกัญชาเป็นครั้งคราว ขึ้นกับจำนวน THC ในกัญชา อาการระยะแรก กระตุ้นประสาท กลายเป็นคนร่าเริง ช่างพูด หัวเราะง่าย หัวใจเต้นเร็ว ตื่นเต้นง่าย มึนเมาอ่อน ๆ อาการต่อมา กดประสาท มีอาการง่วง ซึมลง อาจเห็นภาพลวงตา ภาพหลอนต่าง ๆ อาการมากขึ้น หูแว่ว ตกใจง่าย วิตกกังวล หวาดระแวง ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้
แต่ถ้าคนที่สูบกัญชาเป็นประจำเป็นปี ๆ มีโอกาสเกิดผลกระทบกับสมองมากขึ้น จากงานวิจัยของต่างประเทศหลายชิ้นพบว่า ไอคิวต่ำลง ความจำเสื่อม การเรียนรู้เชื่องช้า ตัดสินใจผิดพลาด อาการเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น เกิดอาการทางจิต เช่น มีความหวาดกลัว ซึมเศร้า จิตหลอน
ศ.นพ.สิริชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีการวิจัย คนที่ไม่สูบกัญชา แต่อยู่ร่วมกับคนสูบกัญชาเป็นเวลา 3 ชั่วโมง พบว่ามีปริมาณ THC สูงในเลือด และมีบางคนอยู่ร่วมกับกลุ่มคนสูบกัญชาที่มีปริมาณ THC 11.3% เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ตรวจพบมีสาร THC ในปัสสาวะ ส่วนการใช้น้ำมันกัญชา ที่มีสาร THC มากกว่า 0.3% ทั้งกินทั้งหยอด เป็นประจำจะมีผลกระทบแบบเดียวกับการสูบกัญชาเป็นประจำหรือไม่นั้น ยังไม่มีการวิจัยที่แน่นอน
ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า มีงานวิจัยสาเหตุการเสียชีวิตจากสาร THC ในกัญชา แบ่งเป็น 3 อย่าง คือ 1. พิษของกัญชา ถ้าเสพเกินขนาด ทั้งสูบหรือกิน โดยเฉพาะในเด็ก เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต 2. การเสียชีวิตกะทันหัน จากการกระตุ้นของกัญชา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไปพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บหน้าอกแบบโรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดในหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกิดจากสาร THC ไปกระตุ้นให้เส้นเลือดหัวใจบีบตัว หรือทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และไปกระทบเส้นเลือดสมองตีบได้ 3. เป็นเหตุสนับสนุนให้เกิดการเสียชีวิต สาร THC ทำให้เกิดอาการทางจิตเวช ซึมเศร้าได้ และเปลี่ยนเป็นโรคจิตเภทถึง 34% หมายถึงเป็นโรคจิตเวชที่มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอนเรื้อรัง
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด กล่าวว่าตั้งแต่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา นับจากการปลดล็อกกัญชา มีรายงานผลกระทบจากการใช้กัญชาบ้างประปราย คงต้องเกาะติดประเด็นเหล่านี้ เพื่อให้การใช้กัญชาทางการแพทย์ปลอดภัย เน้นย้ำว่าสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ แต่ถ้าใช้ในเชิงสันทนาการ จำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์ฯ สำรวจพบว่า เด็กและเยาวชนมีการสูบกัญชามากขึ้นถึง 2 เท่า มีผลการศึกษาเบื้องต้นแล้ว เจอเรื่องการวินิจฉัยโรคที่เกิดจากกัญชาเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หลังมีการอนุญาตการใช้กัญชา พบว่าในผู้ป่วยนอกมีการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด โดยตัดบุหรี่และเหล้าออก พบว่าเพิ่มขึ้นในปี 2021 และปี 2021 ผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 29% และผู้ป่วยในเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40% เพราะฉะนั้น นิ่งนอนใจไม่ได้.-สำนักข่าวไทย