กรุงเทพฯ 22 ก.ค.- อธิบดีกรมปศุสัตว์แจงเนื้อหมูที่จำหน่ายในโครงการ “เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” ที่อตก. ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ปลอด ASF แน่นอน ไม่ได้เป็นอย่างที่มีการอภิปรายนายกรัฐมนตรี โดยโรงฆ่าที่นำเนื้อหมูมาจำหน่ายเป็นโรงฆ่าส่งออกและได้รับมาตรฐานปศุสัตว์ OK
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวถึงที่มีการอภิปรายนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับปัญหาราคาหมูแพง โดยระบุว่า มีสาเหตุจากการปกปิดข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) นั้น กรมปศุสัตว์ขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง ย้ำชัดไม่เคยปกปิดข้อมูล โปร่งใสตรวจสอบได้
ที่ผ่านมาเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือโรคนี้มาโดยตลอดตั้งแต่มีการระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ทั้งด้านแผนมาตรการป้องกันและควบคุม การเสนอเป็นวาระแห่งชาติ การควบคุมการเคลื่อนย้าย การสร้างเครือข่าย และให้ความรู้แก่เกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประเทศเพื่อนบ้านและองค์กรระหว่างประเทศ การเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
เมื่อพบรายงานการเกิดโรคในประเทศไทยทำให้สามารถรับมือควบคุมสถานการณ์ในวงจำกัดได้ทันที จนได้รับการยอมรับมีระบบการควบคุมโรค ASF ดีที่สุดในอาเซียน ประเทศฟิลิปปินส์มาขอศึกษาดูงานเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศ สำหรับกรณีราคาหมูแพงนั้นเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนด้านอาหารสัตว์ ค่าน้ำมันในการขนส่ง และค่าโลจิสติกส์ต่างๆ
สำหรับการจำหน่ายเนื้อหมูจากโครงการ “เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” เมื่อวันที่ 12 – 19 กุมภาพันธ์ 2565 นั้นเป็นเนื้อหมูที่มาจากโรงงานมาตรฐานได้รับการรับรองเป็นโรงงานเพื่อการส่งออกและได้เข้าร่วมโครงการปศุสัตว์ OK กับกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตรวจโรคสัตว์ของกรมปศุสัตว์ไปกำกับดูแลการผลิตเนื้อสุกรตลอดการผลิต ควบคุมป้องกันโรค ASF อย่างเคร่งครัด โดยฟาร์มและโรงงาน มีการตรวจสุขภาพสุกร การสุ่มเก็บตัวอย่างก่อนการเคลื่อนย้ายสุกรเข้าโรงฆ่า เฉพาะสุกรสุขภาพดีเท่านั้นเข้าฆ่าเพื่อจำหน่าย และผ่านการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อ ASF ตามหลักวิชาการและไม่พบการปนเปื้อนเชื้อ ASF ส่วนการที่ผู้ประกอบการสามารถนำเนื้อสุกรจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 140 บาทนั้น เนื่องจากเป็นเนื้อสุกรที่ผลิตและเก็บไว้ใน stock ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จึงมีราคาต้นทุนสุกรมีชีวิตต่ำกว่าท้องตลาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565
โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรพบการระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2561 กรมปศุสัตว์ได้มีการดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง โดยสั่งการปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่อย่างเข้มงวด พร้อมจัดตั้งการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (War room) ในระดับจังหวัด ประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตสุกรทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องและองค์กรระหว่างประเทศ ทางด้านสุขภาพสัตว์และความมั่นคงด้านอาหาร เช่น องค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นต้น ได้ร่วมประชุมและกำหนดแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย พร้อมทั้งมีการซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในทุกพื้นที่ปสุสัตว์เขตทั่วประเทศ โดยเป็นการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ในระดับพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร/รับทราบแนวทางปฏิบัติในการป้องกันโรค และได้ดำเนินการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (contingency plan) และแนวทางเวชปฏิบัติของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Clinical Practice Guideline) อีกทั้งได้มีการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทั้งทางอาการ และทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นผลลบต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทั้งหมด แต่ตรวจทางห้องปฏิบัติการให้ผลบวกต่อโรคระบาดในสุกรชนิดอื่นๆ จนถึงช่วงเดือนมกราคม 2565 มีการพบสุกรป่วยตายผิดปกติมากขึ้น กรมปศุสัตว์ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ดังกล่าวจึงได้สั่งการให้จัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น จนวันที่ 10 มกราคม 2565 กรมปศุสัตว์ได้ประกาศการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย จากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการให้ผลบวกต่อเชื้อ ASF จำนวน 1 ตัวอย่างจากตัวอย่างพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจากจังหวัดนครปฐม จึงได้สั่งการให้ชุดเฉพาะกิจได้ลงพื้นที่เข้าสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาถึงแหล่งที่มาของสุกรและสาเหตุเพื่อควบคุมโรคโดยเร็วต่อไป เพื่อลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งจากการดำเนินการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ทำให้ปัจจุบันสามารถควบคุมโรคได้อยู่ในวงพื้นที่จำกัดแล้ว และเพื่อเป็นการทำงานเชิงรุกเนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนในการป้องกันจึงได้ศึกษาถึงการผลิตวัคซีนป้องกันโรค ASF เพื่อนำมาเป็นต้นแบบนำมาขยายผลต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์จัดทำ “Pig Sandbox” โดยพิจารณากำหนดพื้นที่ กลุ่มเป้าหมาย เพื่อควบคุมโรคสัตว์และส่งเสริมการเลี้ยงเป็นโครงการนำร่องที่จังหวัดราชบุรี โดยจะประสานกับหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ในการหาช่องทางส่งออกไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านและต่างประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินการโครงการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 – 3 พฤษภาคม 2566 ได้การสนับสนุนงบประมาณวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. วงเงินงบประมาณ 10,070,720.00 บาท ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการควบคุมป้องกันโรค การส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและเกษตรกรรายย่อย เพื่อยกระดับและปรับระบบการเลี้ยงให้เข้าสู่มาตรฐาน GFM หรือ GAP หรือระบบ compartment ในการนำสุกรกลับมาเลี้ยงรอบใหม่.-สำนักข่าวไทย