กรุงเทพฯ 27 มิ.ย. – “ชัชชาติ” เผยมีเรื่องร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์ แล้วกว่า 5.4 หมื่นเรื่อง เกินครึ่งร้องถนน ทางเท้า แสงสว่าง สายไฟ ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเกือบ 2 หมื่นเรื่อง เตรียมเพิ่มฟังก์ชัน ปชช.ให้คะแนนพึงพอใจการดำเนินงานได้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผย ความคืบหน้าการดำเนินงาน ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ช่องทางรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งปัจจุบัน ทุกเขตและทุกสำนักของ กทม. เข้าถึงระบบได้ 100% แล้ว
สำหรับสถิติการแจ้งปัญหาผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. – 27 มิ.ย.2565 พบว่า มีการแจ้งปัญหาแล้วทั้งสิ้น 54,929 เรื่อง โดย 50% ของปัญหาเป็นเรื่องถนน ทางเท้า แสงสว่าง สายไฟ และขยะ ซึ่งในจำนวนเรื่องร้องเรียนเข้ามามีการดำเนินการแล้ว 19,436 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 21,196 เรื่อง ส่งต่อให้หน่วยงานอื่น 10,202 เรื่อง และรอรับเรื่อง 4,458 เรื่อง ซึ่ง 40 ใน 50 เขตของ กทม. รับเรื่องและดำเนินการไปแล้วกว่า 90% พร้อมเผย กทม. เตรียมเพิ่มฟังก์ชันใหม่ในระบบ ปชช. สามารถให้คะแนนความพึงพอใจได้ หรือหาผู้แจ้งที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานสามารถแจ้งเปิดเรื่องใหม่ได้ โดยไม่ต้องยื่นร้องซ้ำ โดยในช่วงที่ผ่านมา มีหน่วยงานนอกในพื้นที่ กทม. เข้าร่วมระบบกว่า 80 หน่วยงาน เช่น รัฐวิสาหกิจ, สน., กระทรวง และเอกชน รวมทั้งมีแนวทางต่อยอดการใช้งาน อาทิ เพิ่มกล่อง ปัญหาที่ต้องแก้เชิงนโยบาย เปิดกล่องร้องเรียนที่เจ้าหน้าที่ กทม. ฝ่ายกลาง สามารถรับเรื่องร้องเรียนได้โดยตรง เป็นต้น
ส่วนความคืบหน้า โครงการการปลูกต้นไม้ล้านต้น ผู้ว่าฯ กทม. เผยโครงการดังกล่าวปลูกต้นไม้ เพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง สร้างร่มเงา ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ โดยแบ่งยุทธศาสตร์การปลูกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะของพื้นที่ ดังนี้
- พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะน้อย เช่น เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เป้าหมายเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ปลูกไม้ยืนต้น 75% พุ่มกลาง 20% เถา 5% 2. พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะมาก เช่น เขตประเวศ เขตจตุจักร เป้าหมายเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกไม้ยืนต้น 75% พุ่มกลาง 20% เถา 5% 3. พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะน้อย เช่น เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป้าหมายเพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง ให้ร่มเงา ปลูกไม้ยืนต้น 40% พุ่มกลาง 50% เถา 10% และ 4. พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะมาก เช่น เขตพระนคร เขตดุสิต เป้าหมายเพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกไม้ยืนต้น 30% ไม้พุ่มกลางไม่เกิน 70% โดยมีการตั้งเป้าการปลูกในส่วนราชการอื่น ๆ 10,000 ต้น ภาคประชาชน 50,000 ต้น สำนักสิ่งแวดล้อม 200,000 ต้น บริษัทเอกชน 240,000 ต้น และสำนักงานเขต 500,000 ต้น โดยชุมชนในพื้นที่ กทม. ร่วมกันเพาะกล้าไม้ ช่วยสร้างการจ้างงานเพิ่มในชุมชน
ปัจจุบันได้ดำเนินการปลูกต้นไม้แล้ว จำนวน 26,122 ต้น แบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 9,692 ต้น ไม้พุ่ม 11,776 ต้น และไม้เลื้อย 4,654 ต้น โดยเขตบางกะปิปลูกมากที่สุด คิดเป็น 37% สำหรับหน่วยงานภาคเอกชนที่แจ้งความประสงค์ปลูกต้นไม้ ได้แก่ ดิ เอราวัณ 100 ต้น ปตท. 100,000 ต้น SCG 100,000 ต้น แสนสิริ 20,000 ต้น CP 100,000 ต้น สมาคมนักธุรกิจไต้หวัน 50,000 ต้น ThaiPBS 1,000 ต้น Dubble A 100,000 ต้น Bangkok Residence 400 ต้น AIA 10,000 ต้น Central Group 100,000 ต้น รวมจำนวน 581,400 ต้น และยังมีเอกชนอีกหลายแห่งซึ่งอยู่ระหว่างการยืนยันจำนวน นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ กทม. ได้ประสานขอไป เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย อยู่ระหว่างการตอบรับ ดังนั้นจะมีเกือบ 600,000 ต้น ที่ภาคเอกชนให้มาแล้ว
“ถ้าเราร่วมมือกันโดยไม่ใช้งบประมาณสามารถดำเนินการได้เร็ว เป็นนโยบายระยะยาว เนื่องจากต้องใช้เวลาปลูก แต่เราเริ่มต้นได้เร็ว เชื่อว่า 4 ปี เราได้ครบหนึ่งล้านต้น กรุงเทพจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลต้นไม้ที่ได้ปลูกแล้ว 26,122 ต้น จะถูกบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลในแอปพลิเคชัน BKK-plant ทั้งหมด โดยมีรายละเอียดชื่อกิจกรรม วันที่ปลูก สถานที่ปลูก ชนิดของต้นไม้ และชนิดของต้นไม้ที่แนะนำสำหรับพื้นที่ (ระยะ 2) พร้อมรูปถ่าย และต่อไปต้นไม้ล้านต้นก็จะถูกบันทึกเช่นเดียวกัน สุดท้ายในอนาคตอาจขายเป็นคาร์บอนเครดิตให้กับเมืองได้.-สำนักข่าวไทย