กรุงเทพฯ 3 พ.ค.-คาดหุ้นไทย เดือน พ.ค. ต่างชาติลดขนาดลงทุนในไทย ทั้งปัจจัย เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย และผลกระทบที่จีนล็อกดาวน์รวมทั้งยังใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ กระทบถึงการท่องเที่ยวไทย “เจพีมอร์แกน” ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนตลาดหุ้นไทย
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทย พ.ค.นี้ มีแนวโน้มที่ต่างชาติจะชะลอการลงทุนในหุ้นไทย ด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเศราฐกิจโลกชะลอตัวลง,ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด ) ที่ประเมินจะเร่งขั้นดอกเบี้ย ร้อยละ 0.50 ในเดือน พ.ค.นี้ และคาดว่าในเดือน มิ.ย.อาจจะเร่งขึ้นอีก ร้อยละ 0.50-0.75 ภาพเช่นนี้ จะคล้ายกับปี 2551 ที่ช่วงนั้น เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย และลดขนาดงบดุลลง ก็ส่งผลให้ สภาพคล่องลดลง ต่างชาติมีการขายหุ้นไทยรวมๆประมาณร้อยละ 10 ประกอบกับการที่ เจพีมอร์แกน ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นไทยลง ก็ยิ่งคาดว่าจะกระทบต่อ ฟันโฟลว์การลงทุนของต่างชาติในไทยให้ชะลอตัวลงเช่นกัน
“กลยุทธ์การลงทุนในเดือน พ.ค.นี้ คงจะต้องเลือกเล่นรายตัวที่มีความโดดเด่น เช่น บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต( BLA)ที่ได้รับผลบวกจาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุระดับ 3% และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศ”นายภราดร กล่าว
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เจพีมอร์แกน ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นไทยจากระดับ “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” (Overweight) สู่ระดับ “คงน้ำหนักการลงทุน” (Neutral) ให้เหตุผลว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวค่อนข้างช้าจากปัญหาเงินเฟ้อ และโควิด-19 ในจีนซึ่ง หากจีนยังใช้หลัก Zero Covid ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กลับมาเที่ยวไทยช้าลง โดยเมื่อปี 2562 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นสัดส่วนถึง 12% ของ GDP เป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 และจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีนกว่า 1 ใน 4 ที่เดินทางเข้าประเทศไทย
สำหรับวันแรกของการซื้อหุ้นไทยในเดือน พ.ค. วันนี้ (3 พ.ค.) SET ปิดภาคเช้าวันนี้ที่ระดับ 1,657.26 จุด ลดลง10.18 จุด (-0.61%) มูลค่าการซื้อขายราว 33,900 ล้านบาท
ด้านบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า ในการประชุมเฟด วันที่ 3-4 พ.ค. นี้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50 ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวในระดับสูง โดยเฟดยังคงให้น้ำหนักต่อประเด็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาเป็นหลัก ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. 2565 เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ ร้อยละ 8.5% นอกจากนี้ คาดว่าเฟดคงจะต้องเริ่มปรับลดขนาดงบดุลมูลค่ารวมเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ
การเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ มีทิศทางแข็งค่าขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่มีการดำเนินนโยบายการเงินสวนทางกับเฟดเผชิญแรงกดดันจากเงินทุนไหลออกและทิศทางค่าเงินที่อ่อนค่าลง
ทั้งนี้ หากพิจารณาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซีย ประเทศส่วนใหญ่ต่างยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะเริ่มฟื้นตัว ซึ่งนโยบายการเงินที่แตกต่างกันของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศกับสหรัฐฯ (Interest rate gap) นั้นแคบลง อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากประเทศ และไปกดดันทิศทางค่าเงินของแต่ละประเทศให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องได้ ดังนั้น ธนาคารกลางต่างๆ คงเผชิญความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและคงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินและด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปในระยะข้างหน้า.–สำนักข่าวไทย