กรุงเทพฯ 28 ธ.ค.-หลังคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สนช. แถลงผลประชุมเสนอแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ วาระด่วนในมาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ก็เกิดความเคลื่อนไหวในฝั่งฝากพระสงฆ์ ส่วนใหญ่เกิดข้อกังวล เพราะไม่มีการข้อความเห็นจากมหาเถรสมาคม แต่ สนช.ยืนยันว่า ข้อเสนอครั้งนี้จะไม่ทำให้เกิดวิกฤติในวงการสงฆ์
ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สนช. ที่ให้แก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 มาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยให้กลับไปยึดตามร่างเดิม พ.ศ.2505 ที่กำหนด เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เนื่องจากฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ.2535 ก่อให้เกิดข้อโต้แย้ง การเสนอครั้งนี้ก็เพื่อลดความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช
หลังข้อเสนอถูกเผยแพร่ มีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายสงฆ์ นำโดยพระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ที่ออกมายอมรับคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ไม่สบายใจ แต่ไม่ขอก้าวล่วงพระราชอำนาจ เพียงแต่อยากให้คณะสงฆ์มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ยอมรับว่าคณะสงฆ์ไม่สามารถนิ่งเฉยได้ เพราะคณะสงฆ์ไม่ได้รับความเป็นธรรม การแก้กฎหมายมีความเร่งรีบ อย่างไรก็ตาม ขอรอติดตามผลประชุม สนช.พรุ่งนี้ ยืนยันไม่ได้ปกป้องสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง แต่ทำเพื่อความถูกต้อง
มีคำชี้แจงจากฝั่ง สนช. ข้อเสนอครั้งนี้ไม่มีใบสั่งจากใคร แต่ศึกษามาเป็นปีแล้ว ทั้งเห็นว่าควรกลับไปใช้กฎหมายฉบับปี 2505 เพราะในอดีตไม่เคยมีปัญหาการตีความ ว่าใครต้องพิจารณาก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ระหว่างนายกรัฐมนตรีและมหาเถรสมาคม และข้อเสนอครั้งนี้จะไม่ทำให้เกิดวิกฤติในวงการสงฆ์
ด้านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่า เรื่องนี้จะะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย วอนอย่าปลุกม็อบ อย่าตีตนไปก่อนไข้ เชื่อคนไทยรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เหมือนกัน
ยังต้องรอผลการประชุมหารือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแก้ไข พรุ่งนี้ หากรัฐบาลเห็นตรงกับ สนช. สามารถรับหลักการร่างได้ทันที หรือคณะรัฐมนตรีอาจส่งร่างของรัฐบาลประกบ ก่อนบรรจุเป็นวาระตามขั้นตอน ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ต้องจับตาความเคลื่อนไหวคณะสงฆ์อย่างใกล้ชิด.-สำนักข่าวไทย