กรุงเทพฯ 7 ม.ค.-นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้ ยังคงมีฝนที่ตกหนักในหลายพื้นที่ เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมทะเลอันดามันกำลังเคลื่อนตัวทางเหนืออย่างช้าๆ มีทิศทางเข้าใกล้ประเทศเมียนมา ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้แม่น้ำสายหลักต่างๆ มีระดับน้ำสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามเฝ้าระวัง และรายงานสถานการณ์น้ำให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ให้รับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม รวม 8 จังหวัด สรุปสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ ได้ ดังนี้
จังหวัดชุมพร ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ราบลุ่มบางแห่ง และมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งบางช่วงของลุ่มน้ำคลองละแม คลองหลังสวน และคลองตะโก ทำให้มีน้ำเอ่อเข้าท่วมในเขตเทศบาลเมืองหลังสวน บริเวณโรงพยาบาลหลังสวน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50 – 0.80 เมตร ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มทรงตัวแล้ว ส่วนในพื้นที่อำเภอพะโต๊ะ ซึ่งเป็นต้นน้ำของคลองหลังสวนเริ่มมีปริมาณน้ำลดลง และคลองสวี มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ถ้าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 – 2 วันนี้ โครงการชลประทานชุมพร สำนักงานชลประทานที่ 14 ได้เตรียมพร้อมสนับเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 13 เครื่อง และขนาด 4 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง
จังหวัดสุราษฏร์ธานี มีน้ำท่วมในที่ราบลุ่มต่ำ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอดอนสัก อำเภอบ้านนาสาร อำเภอเมือง อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพงัน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และเส้นทางคมนาคม ส่วนสภาพน้ำท่าในแม่น้ำตาปี ที่สถานีวัดน้ำ X37A อำเภอพระแสง วัดได้ 10.07 เมตร ต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 0.69 เมตร สถานี X.217 ที่อำเภอเคียนซา วัดได้ 2.86 เมตร ต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 1.14 เมตร และสถานี X.5C ที่อำเภอพุนพิน วัดได้ 1.34 เมตร ต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 0.46 เมตร ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าประมาณภายใน 1 – 2 วัน น้ำจะเริ่มไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำของอำเภอพระแสง ส่วนอำเภอพุนพินระดับน้ำยังคงขึ้นลงตามอิทธิพลของน้ำทะเล โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานีได้แจ้งเตือน ราษฎร์ที่อยู่ท้ายฝายคลองไชยา โดยเฉพาะบริเวณตลาดไชยา เทศบาลเวียง และอำเภอไชยา ให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว
จังหวัดตรัง มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำของแม่น้ำตรัง ในเขตอำเภอเมือง อำเภอรัษฎา อำเภอวังวิเศษ และอำเภอห้วยยอด โดยพื้นที่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลงและเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงมีอำเภอวังวิเศษ และอำเภอห้วยยอด ที่ยังมีน้ำท่วมขังและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 – 2 วัน
โครงการชลประทานตรัง ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อทราบ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 5 เครื่อง รถขุด จำนวน 1 คัน และรถบรรทุก จำนวน 1 คัน ที่พร้อมจะออกปฏิบัติงานได้ทันที
จังหวัดนครศรีธรรมราช ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอหัวไทร ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร ส่วนลุ่มน้ำอื่นๆ มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอช้างกลาง อำเภอท่าศาลาอำเภอนบพิตำ อำเภอพิปูน อำเภอฉวาง อำเภอทุ่งสง อำเภอท่าศาลา และอำเภอสิชล ระดับน้ำท่วมสูงโดยเฉลี่ย 0.20–0.70 เมตร
ส่วนในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลมาจากต้นเขาคีรีวงลงสู่คลองท่าดี มีปริมาณมาก และได้ไหลผ่านลงคลองระบายน้ำ ทำให้ระดับน้ำในตัวเมืองสูงขึ้นไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30 – 0.80 เมตร หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์นี้ สำนักงานชลประทานที่ 15 ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องผลักดันน้ำ ช่วยเร่งระบายน้ำในลุ่มน้ำปากพนัง มีครื่องสูบน้ำ 45 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 44 เครื่อง และลุ่มน้ำอื่นๆ มีเครื่องสูบน้ำ 23 เครื่อง ช่วยเหลือพื้นที่ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช 21 เครื่อง อำเภอทุ่งสง และอำเภอท่าศาลา 2 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีเครื่องผลักดันน้ำอีก 8 เครื่อง ที่เข้าไปช่วยเหลือระบายน้ำในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
จังหวัดพัทลุง ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 11 อำเภอ และพื้นที่บางส่วนที่อยู่ริมทะเลสาบสงขลา ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน อำเภอป่าพะยอม อำเภอป่าบอน อำเภอศรีบรรพต อำเภอ กงหรา อำเภอเขาชัยสน อำเภอบางแก้ว อำเภอศรีนครินทร์ และอำเภอตะโหมด ระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 0.30 – 0.60 เมตร แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันมาก น้ำจะมาเร็วไปเร็ว หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 -2 วันนี้ ทั้งนี้ ปริมาณน้ำดังกล่าว จะไหลไปรวมที่ทะเลสาบสงขลา ทำให้บริเวณนี้คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 6 – 7 วัน โครงการชลประทานพัทลุง ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 5 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ช่วยเร่งระบายน้ำ พร้อมทั้งแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้แจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
จังหวัดนราธิวาส (ลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา และลุ่มน้ำสายบุรี) ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณอำเภอเมือง อำเภอระแงะ อำเภอยี่งอ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอตากใบ รวมไปถึงอำเภอ สายบุรี จ.ปัตตานีด้วย ระดับสูงประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 3 – 4 วัน โครงการชลประทานนราธิวาส ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง และขนาด 12 นิ้ว 4 เครื่อง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโก-ลก สนับสนุนเครื่องสูบน้ำในเขตโครงการ ขนาด 8 นิ้ว 4 เครื่อง และขนาด 10 นิ้ว 1 เครื่อง กับสูบน้ำด้วยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 4 สถานี เพื่อช่วยระบายน้ำในพื้นที่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางนรา สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว 2 เครื่อง
จังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง ในเขตอำเภอเมืองปัตตานี อำเภอ ยะหา และอําเภอรามัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 -2 วัน โครงการชลประทานยะลา ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ได้ดำเนินการขุดลอกกำจัดผักตบชวา หน้าประตูระบายน้ำตุยงและบริเวณด้านท้าย เพื่อช่วยในการระบายน้ำให้รวดเร็วขึ้นแล้ว และยังได้ร่วมกับทางจังหวัดและหน่วยงานในท้องถิ่น บูรณาการเร่งระบายน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มเริ่มลดลงแล้ว ปริมาณน้ำที่ท่วมในแต่ละจังหวัดของภาคใต้จะไหลลงสู่ลำน้ำและไหลลงทะเลในเขตจังหวัดนั้นๆ โดยไม่ส่งผลกระทบกับจังหวัดใกล้เคียง ยกเว้นลุ่มน้ำสายบุรีที่น้ำจะไหลจากจังหวัดนราธิวาสไปลงจังหวัดปัตตานี และลุ่มน้ำปัตตานี ที่น้ำจะไหลจากจังหวัดยะลาไปลงจังหวัดปัตตานีเช่นกัน
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำบริเวณพื้นที่ภาคใต้หลายแห่ง ที่มีน้ำล้นอาคารระบายน้ำล้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเต็มความจุของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งประกอบไปด้วยอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ดังนี้ จังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหุบกะพง จังหวัดกระบี่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางกำปรัด อ่างเก็บน้ำห้วยลึก อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเขียว และอ่างเก็บน้ำคลองหยา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส อ่างเก็บน้ำคลองกะทูน อ่างเก็บน้ำเสม็ดจวน และอ่างเก็บน้ำคลองดินแดง จังหวัดตรัง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว จังหวัดพัทลุง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำป่าพะยอม จังหวัดนราธิวาส ได้แก่ อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำต่างๆเหล่านี้ ได้มีการระบายน้ำตามศักยภาพ เพื่อรักษาสมดุลของอ่างเก็บน้ำ ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอยืนยันว่า สภาพตัวอ่างเก็บน้ำและตัวสันเขื่อนของทุกอ่างฯ ยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี และการระบายน้ำส่วนเกินก็ไม่มีผลกระทบต่อตัวอ่างเก็บน้ำแต่อย่างใด ซึ่งทางโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 14 – 17 ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อแจ้งเตือนและชี้แจงถึงสถานการณ์การระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำดังกล่าวให้กับประชาชนในพื้นที่ท้ายอ่างฯ ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องแล้ว
สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมในภาคใต้ นั้น นอกจากเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่กำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่เดิมแล้ว ขณะนี้กรมชลประทาน ได้ระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักร และเครื่องมือ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่จากทั่วประเทศ ลงไปช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้แล้ว คาดว่าจะทยอยเดินทางถึงพื้นที่ต่างๆ ภายในเย็นวันนี้(7 ม.ค. 60) ซึ่งในเบื้องต้นจะเน้นการนำเครื่องจักร เครื่องมือหนัก เข้าไปช่วยเปิดทางน้ำให้น้ำที่จะระบาย ไหลออกจากพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วที่สุดก่อน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนในแต่ละพื้นที่ และให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด-สำนักข่าวไทย