กาญจนบุรี 1 ก.พ. – หนุ่มกะเกรี่ยงที่ถูกเสือโคร่งตะปบได้รับบาดเจ็บสาหัส ที่ จ.กาญจนบุรี วันนี้ออกจาก รพ.แล้ว พร้อมเปิดใจหลังรอดตายจากการสู้กับเสือโคร่ง
จากกรณีนายหวาน ชาวกะเหรี่ยง อายุ 46 ปี อยู่บ้านปิล๊อกคี่ ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ถูกเสือโคร่งตะปบได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกนำส่งเข้ารับการรักษาที่ รพ.ทองผาภูมิ ก่อนมารักษาต่อที่ รพ.พหลพลพยุหเสนา เนื่องจากมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่พร้อมกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุด วันนี้คณะแพทย์ผู้รักษาได้อนุญาตให้นายหวานออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว เนื่องจากอาการดีขึ้นตามลำดับ โดยนัดให้มาพบหมอเพื่อตรวจอาการอีกครั้งในวันที่ 9 ก.พ.นี้ ผู้สื่อข่าวประสานไปหาน้าสาวของนายหวาน พร้อมกับญาติที่ขับรถยนต์มารับนายหวานกลับบ้าน เพื่อสอบถามถึงอาการบาดเจ็บ และความเป็นมาก่อนเกิดเหตุ ซึ่งนายหวาน ยินดีที่จะเล่าเหตุการณ์ให้สื่อมวลชนได้รับฟัง สภาพร่างกายนายหวานวันนี้ มีผ้าก๊อซพันแผลหลายแห่ง
นายหวาน เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า ก่อนเกิดเหตุ ออกจากหมู่บ้านไปดูควายที่เลี้ยงไว้เพียงลำพัง โดยพาสุนัขที่เลี้ยงไว้ 3 ตัวไปด้วย ระหว่างเดินทางกลับบ้าน ปรากฏว่ามีเสือโคร่ง 2 ตัววิ่งไล่ตามหลังมา เขาพยายามวิ่งหลบหนี แต่กลับมีเสือโคร่งอีกตัว ไม่ทราบเพศตัวยืนขวางอยู่ด้านหน้า เสือตัวดังกล่าวก็กระโจนใส่อย่างรวดเร็ว เขาพยายามต่อสู้เอาชีวิตรอดทุกวิถีทาง ใช้หมัดชกอย่างแรงจนกระดูกข้อมือหัก ช่วงที่สู้กับเสือ จำได้แค่ว่าประมาณ 30 นาที และถือว่าโชคดีที่เสือ 2 ตัวที่วิ่งตามมาก่อนหน้านี้ไม่ได้เข้ามารุมด้วย เขาจึงกัดฟันวิ่งหนีขึ้นไปอยู่บนกอไผ่ได้ และพยายามตะโกนไล่เสือ และใช้ท่อนไม้ไผ่ขว้างใส่เสือ จนกระทั่งเสือโคร่งเดินเข้าไปในป่า เมื่อมั่นใจว่าเสือไปแล้ว จึงรีบลงจากกอไผ่ วิ่งหนีสุดชีวิตเพื่อมาขอความช่วยเหลือจากคนในหมู่บ้านให้นำส่งโรงพยาบาล
สำหรับบาดแผลตามร่างกายมีรอยเขี้ยวเสือกัด 20 แผล โดยเฉพาะที่ฝ่ามือทั้ง 2 ข้างถูกเสือกัดจนทะลุ รวมทั้งบริเวณลำคอและตามร่างกาย ส่วนปากถูกเสือกัดจนฟันหัก
น้าสาวนายหวาน เล่าว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่ไม่เคยพบเสือโคร่งมาก่อน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการยิงสู้รบกันตามแนวชายแดนที่ใกล้กับบ้านปิล๊อกคี่ ทำให้ทหารกะเหรี่ยงหนีร่นเข้ามาอาศัยอยู่ตามผืนป่าที่เป็นที่อยู่ของเสือโคร่ง จากการยิงที่ทำให้เกิดเสียงดังเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ผืนป่าฝั่งประเทศเมียนมาจึงอพยพถิ่นฐานเข้ามาหากินที่ผืนป่าฝั่งไทย . – สำนักข่าวไทย