กรุงเทพฯ 14 ม.ค. – ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดเศรฐกิจไทยปี 65 โต 3.3 % ชี้เริ่มทยอยฟื้นตัว ดอกเบี้ยนโยบาย ยังอยู่ที่ 0.5 เชื่อการท่องเที่ยว ฟื้นช่วงปลายปี 65 ช่วยพยุงเศรษฐกิจ
ดร.ทิม ลีฬหะพันธ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคาร มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 3.3 % ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่มองว่าปีนี้ไทยจะเติบโต ที่ 4 % โดยมองว่าเศรษฐกิจจะเริ่มทยอยฟื้นตัว ส่วนเรื่องอัตราเงินเฟ้อของไทย แม้ราคาสินค้าจะแพงขึ้นอย่างชัดเจน แต่ความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงมองว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบที่ 1-3 %
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5 % ตลอดทั้งปี และยังไม่เห็นโอกาสปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด สายพันธ์ โอไมครอน ยังไม่จบ อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่า อาจมีการปรับขึ้นในช่วงปลายปีหน้า อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25 จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 1 % ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารประเทศต่างๆ
ด้านค่าเงินบาท ต้นปี 2565 อยู่ที่ 33.4 ดอลลาร์สหรัฐ แต่การที่ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับผลกระทบจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ค่าเงินบาทน่าจะยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม หากการท่องเที่ยวค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว ค่าเงินบาทน่าจะเริ่มแข็งค่าขึ้นในครึ่งปีหลัง อยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในสิ้นปี 2565
ส่วนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมาก ทำให้ประเทศไทย มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาตลอด จนมาเริ่มขาดดุลในปีที่แล้ว เนื่องจากก่อนโควิดไทยมีนักทองเที่ยว หยุดรับนักท่องเที่ยวช่วง 2 ปี จนเริ่มกลับมามีนักท่องเที่ยวในช่วงปลายปี แต่เชื่อว่า ปลายปี 2565 ภาคการท่องที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ตาม หากนักท่องเที่ยวกลับมาได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนต่อปี จะช่วยทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย กลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง
ดร.ทิม ยังสะท้อน ปัจจัยด้านการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจว่า การเลือกตั้ง อาจคาดการณ์ไม่ได้ชัดเจน ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงใดของปี 2565 แต่จะไม่เกินเดือนมีนาคม 2566 พร้อมฝากให้รัฐบาล มีการผ่านงบประมาณรายจ่าย ปี2566 ให้แล้วเสร็จ ก่อนการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ เหมือนที่เคยเกิดขึ้น ช่วงปี 2562-2563 จนทำให้เการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินล่าช้าไปถึง 2 ไตรมาส
สำหรับสถานการณ์เรื่องหนี้สาธารณะ ล่าสุด ไทยมีหนี้สาธารณะ อยู่ที่ร้อยละ 60 ของจีดีพี แม้จะยังสามารถกู้มาใช้จ่ายเพิ่มเติมได้อีกประมาณ ร้อยละ 10 จากการขยับเพดานหนี้สาธารณะไม่ให้เกินร้อยละ 70 แต่ มองว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องกู้เพิ่ม เนื่องจากเศรษฐกิจ ไทยกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว และสามารถนำส่วนที่เหลือจากการกู้จำนวน 5 แสนล้าน เมื่อปี 2564 มาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอยากให้เก็บร้อยละ 10 ที่ยังสามารถกู้เพิ่มได้ เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ใช้ในอนาคต ที่ยังไม่รู้ว่าจะเจอกับวิกฤติใดอีกหรือไม่ เช่น ราคาน้ำมัน ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก.-สำนักข่าวไทย