กรุงเทพฯ 13 ม.ค. – ประวัติศาสตร์ของระบบการอุดมศึกษาไทย อธิการบดี 25 สถาบันการศึกษา มีมติเห็นชอบเปิดลงทะเบียนเรียนรายวิชาข้ามสถาบันได้ ปลัด อว.เผยเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา
ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันระหว่างสถาบันสมาชิกของที่ประชุมคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทคบร.) โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 25 สถาบันเข้าร่วม มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. เป็นประธาน และ ศ.ดร.พญ.พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ ประธาน ทคบร.และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย เป็นพยานลงนาม
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ เปิดเผยว่า อว.มีภารกิจหลักสำคัญ 3 ด้าน คือ การสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรม ภายในระยะเวลา 2 ปีเศษหลังการจัดตั้งกระทรวง อว.ได้พัฒนากลไกใหม่ ๆ เพื่อปลดล็อคปัญหาและอุปสรรคที่เคยเป็นมาของมหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด อาทิ การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย เพื่อความเป็นเลิศของแต่ละแห่ง การปลดล็อคระยะเวลาสูงสุดในการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าของอาจารย์ โดยเพิ่ม 5 ช่องทางในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นต้น
ปลัด อว. กล่าวต่อว่า การลงนามฯ ครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของระบบการอุดมศึกษาไทยที่เกิดขึ้นโดยความเห็นชอบของอธิการบดีทั้ง 25 สถาบัน เรื่องนี้เป็นเรื่องยากอย่างมาก แต่วันนี้สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ถือเป็นการนำนโยบายของ อว.ด้านระบบคลังหน่วยกิตและการใช้ทรัพยากรร่วมกันมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักศึกษาที่ควรได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ให้พวกเขามีโอกาสเสาะแสวงหาความรู้ตามรายวิชาที่ตนสนใจและได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายจากมหาวิทยาลัยที่ต่างก็มีของดีและความเป็นเลิศที่แตกต่างกัน ขณะที่มหาวิทยาลัยยังได้รับประโยชน์จากการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นการสนธิกำลังกันให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศในก้าวต่อไป
ด้าน ศ.ดร.พญ.พัชรีย์ กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจ 25 สถาบันการศึกษา มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ด้วยการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาข้ามสถาบันและสามารถใช้หน่วยกิตของรายวิชาดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยกิตในหลักสูตรที่นักศึกษากำลังศึกษาได้ รวมทั้งสามารถนำไปอยู่ในระบบคลังหน่วยกิตสะสมได้ตามข้อกำหนดของแต่ละสถาบัน เพื่อเป็นการส่งเสริมประสบการณ์ทางวิชาการสังคมแก่นิสิต นักศึกษา
สำหรับสถาบันการศึกษา 25 แห่งที่สามารถลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันได้ ประกอบด้วย ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เชียงใหม่ ม.ทักษิณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.ธรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ม.บูรพา ม.พะเยา ม.มหิดล ม.มหาสารคาม ม.แม่โจ้ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.รามคำแหง ม.วลัยลักษณ์ ม.ศิลปากร ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.สงขลานครินทร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ม.เทคโนโลยีสุรนารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ ม.อุบลราชธานี โดยนิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปสามารถศึกษารายละเอียดการลงทะเบียนข้ามสถาบันและรายวิชาที่เปิดรับลงทะเบียนได้ที่ https://graduate.mahidol.ac.th/cgau/courses.php.-สำนักข่าวไทย