รัฐสภา10 ม.ค.-ประชุมวุฒิฯ เห็นชอบร่างพ.ร.บ. คุ้มครองพยาน เพิ่มนิยามไม่ให้จำเลยที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วหนีคดี เป็นพยานขอใช้สิทธิ์คุ้มครองพยาน
การประชุมวุฒิสภา วันนี้(10ม.ค.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน ที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีทั้งสิ้น 11 มาตรา ในมาตรา 3 คณะกรรมาธิการได้เพิ่มเติมความหมายของคำนิยาม คำว่า “พยาน” โดยไม่ให้หมายความรวมถึงจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษถึงที่สุดแล้วหลบหนี เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายในการขอใช้สิทธิขอความคุ้มครองพยาน
ขณะที่ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา งวนความเห็นไว้ว่าขอให้คงข้อความไว้เช่นเดิม เพื่อให้กฎหมายให้การคุ้มครองพยานได้ครอบคลุมมากที่สุด และให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาและจำเลยไม่มีความผิด ดังนั้น จะปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนมีความผิดไม่ได้
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กรรมาธิการ ชี้แจงว่า การเพิ่มเติมคำนิยามดังกล่าวที่ไม่ให้หมายความรวมถึงจำเลยที่หลบหนีคดี เพื่อป้องกันการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อขอรับสิทธิการคุ้มครองพยาน ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองพยาน เป็นเครื่องมือนำตัวจำเลยหลบหนีหมายศาล นอกจากนี้ ยังป้องกันเจ้าหน้าที่ ใช้อำนาจโดยมิชอบไปครอบงำพยาน สร้างแรงจูงใจ กล่าวโทษ หรือปรักปรำจำเลยในคดีอื่น ๆ ได้ และยังเป็นการป้องกันการใช้มาตรการคุ้มครองพยาน ไปละเมิดสิทธิของจำเลยในคดีอื่น ซึ่งควรจะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมเช่นกัน
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการแก้ไขด้วยคะแนนเสียง 138 เสียง ไม่เห็นด้วย 53 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง ไม่มี
จากนั้น นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ประธานกรรมาธิการ ชี้แจงมาตรา 7 แก้ไขมาตรา 10 เนื่องจากผู้แปรญัตติเห็นด้วยที่จะให้ใช้ร่างเดิมที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เพราะเห็นว่าหากใช้ร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นปัญหายุ่งยากในการดำเนินการ และเป็นอุปสรรคในการคุ้มครองพยาน โดยเฉพาะเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน ดังนั้น ทางกรรมาธิการจึงเห็นพ้องกับผู้แปรญัตติให้กลับไปใช้ร่างเดิมของคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภาหลายคนมีทั้งไม่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่จะกลับไปใช้ร่างเดิมของคณะรัฐมนตรี โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่าสิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรปรับแก้มีความเหมาะสมและถูกต้องแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลส่วนบุคคล มีข้อมูลสำคัญและบางส่วนถือเป็นความลับ ควรต้องดำเนินการอย่างรัดกุม รอบคอบ
“ถ้ากลับไปใช้ข้อความตามร่างเดิมถือว่ายังไม่รัดกุม เนื่องจากไม่ได้กำหนดชั้นความลับของข้อมูลที่ชัดเจน เกรงว่าจะกระทบถึงกระบวนการคุ้มครองพยาน ขอให้กลับไปใช้ข้อความที่สภาผู้แทนราษฎรมีการแก้ไข โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคุ้มครองพยาน ซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยื่นคำขอต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อมีคำสั่งให้กรมการปกครองเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและตุลาการ” นายเสรี กล่าว
พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่า ร่างที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรมีปัญหาตั้งแต่วาระรับหลักการ ทั้งการพิจารณา การวินิจฉัยและการตีความ โดยเฉพาะขั้นตอนแรกที่ให้สำนักงานคุ้มครองพยานที่ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
“ขั้นตอนที่สองให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งให้กรมการปกครองเปลี่ยนแปลงข้อมูลหลักฐานการทะเบียนราษฎร ซึ่งการที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งย้อนหลังกลับมายังฝ่ายบริหารจะได้หรือไม่ เพราะหากดำเนินการเช่นนี้จะเป็นการสั่งการที่ย้อนแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ” พล.อ.ต.เฉลิมชัย กล่าว
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยืนตามที่กรรมาธิการแก้ไข ด้วยคะแนนเสียง 164 เสียง ไม่เห็นด้วย 16 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง ไม่มี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพิจารณาการแก้ไขรายมาตราแล้ว ที่ประชุมมีมติเห็นชอบวาระ 3 ด้วยเสียง 162 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียงไม่มี
สำหรับวันพรุ่งนี้(11 ม.ค.) จะงดประชุมวุฒิสภา ส่วนวันพุธและวันพฤหัสบดีจะงดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นวงกว้าง จึงจำเป็นต้องงดประชุม เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.).-สำนักข่าวไทย