มหิดล 19 ม.ค.-มหาวิทยาลัยมหิดลเริ่มใช้วัคซีนเด็งกี่รักษาไข้เลือดออกในไทย นักวิจัยเผยเป็นวัคซีนเเรกของโลกเเละชนิดเดียวที่มีอยู่ ใช้ฉีดป้องกันในช่วงอายุ 9-45 ปี ควบคุมโรคได้ 5-6 ปี
นพ.พลรัตน์ วิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน พร้อมด้วย พญ.อรุณี ทรัพย์เจริญ หัวหน้าโครงการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกเเถลงข่าว”วัคซีนไข้เลือดออก…ในมุมมองผู้ร่วมวิจัยวัคซีนฯ” ที่คณะเวชศาสตร์ เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้เเละความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้วัคซีนเด็งกี่
นพ.พลรัตน์ วิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน กล่าวว่า วัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่(Dengvaxia)เป็นวัคซีนเเรกของโลกเเละชนิดเดียวที่มีอยู่ขณะนี้ ครอบคลุมไวรัสเด็งกี่ 4 สายพันธุ์ โดยประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้ผลิต ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเเล้วใน 13 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย คณะกรรมการอาหารเเละยา(อย.)จดทะเบียนเมื่อ 30 กันยายน 2559 หลังศึกษาวิจัยเเล้วพบว่าได้ผลดี โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่เเก่ประชาชนตั้งเเต่ 10 มกราคม 2560 เป็นต้นไป สามารถฉีดได้ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี มีทั้งหมด 3 เข็ม เว้นระยะ 6 เดือนมนการฉีดเเต่ละครั้ง ค่าใช้จ่าย 3,000 บาทต่อเข็ม ในกรณีผู้ที่วางเเผนว่าจะตั้งครรภ์ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือนก่อนฉีดวัคซีนเข็มเเรก ทั้งมีห้องปฏิบัติการสำหรับวินิจฉัยโรค
ด้านพญ.อรุณี ทรัพย์เจริญ หัวหน้าโครงการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออก กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าวัคซีนตัวนี้มีความปลอดภัย สามารถควบคุมการเกิดไข้เลือดออกได้ร้อยละ 65 ลดการนอนโรงพยาบาลร้อยละ80 ป้องกันโรคเเทรกซ้อนได้ร้อยละ 73 ที่สำคัญสามารถควบคุมโรคไข้เลือดออกได้ใน 5-6 ปี เเละเมื่อได้ศึกษาถึงความปลอดภัยเเละประสิทธิภาพของวัคซีนในเด็กอายุ 4-11 ปีที่อาศัยอยู่ในจ.ราชบุรี 4,002 คนซึ่งได้ผลดี เเละไม่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้น
พญ.อรุณี กล่าวต่อว่า สำหรับไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ 4 สายพันธุ์ มียุงลายเป็นพาหะ ซึ่งขณะนี้มีการระบาดของไข้เลือดออกเด็งกี่ทั่วประเทศ ในคนไข้ทุกอายุทุกเพศ โดยพบมากสุดในช่วงอายุ 10-14 ปี การเเพร่ระบาดมีอยู่ตลอดเวลา โดยในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขเก็บข้อมูล พบผู้ป่วย 144,672 รายเเละในปี 2559 พบ 63,310 รายเเละเสียชีวิต 57 ราย ทั้งนี้ตัวเลขจริงอาจมีผู้ป่วยมากกว่าจำนวนนี้ 15 เท่า การติดเชื้อเด็งกี่ทำให้เกิดกลุ่มโรคต่างๆ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการต่างๆอาทิ ไม่มีอาการ อาการไข้เล็กน้อยบอกสาเหตุไม่ได้ ไข้เด็งกี่ ไม่มีเลือดออกเเละไข้เลือดออกเด็งกี่ ที่มีเลือดออกเเละอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งวัคซีนเด็งกี่ใช้ครอบคลุม 4 สายพันธุ์เเต่ประสิทธิภาพไม่เท่ากัน โดยสายพันธุ์ที่1 รักษาได้ร้อยละ 60 สายพันธุ์ที่2 ร้อยละ 40 ขณะที่สายพันธุ์ที่3เเละ4 ร้อยละ 90 ซึ่งในประเทศไทยจะพบสายพันธุ์ที่ 2-3 มากที่สุด .-สำนักข่าวไทย