กรุงเทพฯ 24 พ.ย.- รมว.คลัง เผยเตรียมเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการฯ ต้นปี 65 แจงต้องใช้นโยบายการคลัง-เงิน ฟื้นเศรษฐกิจ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ ในงานเสวนา “ Unlock Value ก้าวสู่ เส้นทางใหม่ ไร้ขีดจำกัด” ว่า หลังจากกระทรวงการคลังสรุปแนวทางการเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ถือบัตรสวัสดิการฯ 15 ล้านคน คาดว่าจะเปิดลงทะเบียนได้ในต้นปี 65 ยอมรับจะค่อยๆลดการช่วยเหลือเยียวยา กระตุ้นกำลังซื้อ หันมาสร้างงาน เพิ่มกำลังฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ
ยอมรับว่า ทุกประเทศทั่วโลกดำเนินมาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาโควิด-19 นโยบายการเงิน-การคลัง ผ่านการกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท ผ่านโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน บัตรสวัสดิการฯ การเติมทุนผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ด้วยการผ่อนคลาย Unlock ส่งเสริมการใช้จ่ายให้เพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 1.6 จากนั้นในปี 65 เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายมากขึ้น คงได้ปลดล็อกหลายด้านร้อยเปอร์เซ็นต์
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลกระจายการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมมากขึ้น จึงสร้างความเชื่อมั่นกับทุกฝ่าย การใช้นโยบายการคลังได้ผลอย่างรวดเร็วต่อการใช้จ่าย กระตุ้นการลงทุน การบริโภค สำหรับนโยบายการเงิน อาจเห็นผลช้ากว่า แต่ต้องทำให้ยืดหยุ่น เมื่อเจอสถานการณ์จากโควิด-19 ธปท. ต้องปรับการออกมาตรการช่วยเหลือแบบปูพรม เปลี่ยนมาเป็นการดูแลเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหา บางนโยบายที่ใช้ในต่างประเทศ กลับไม่เหมาะกับสังคมไทย ไม่ได้ผลเต็มที่ จึงต้องปรับเปลี่ยน
เมื่อทุกประเทศเริ่มหันมากระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องจับตา ธนาคารกลางทั่วโลก ขยับเพิ่มดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้ออาจทยอยเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ในส่วนของตลาดพันธบัตรของไทย แม้ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น แต่จะกระทบต่อสถาบันการเงินไม่มากนัก เพราะแหล่งทุนส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มาจากฐานเงินฝาก ส่วนอีกร้อยละ 10 มาจากตลาดพันธบัตร สำหรับจีดีพีจากนี้ไป ในไตรมาส 1-3 ของปี 65 คาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจก่อนโควิด-19 แม้ตัวเลขจีดีพี จะดีขึ้น แต่คนตกงาน รายย่อย พ่อค้าแม่ค้า จะรู้สึกไม่ดีขึ้น เพราะตัวเลขเศรษฐกิจ จะสะท้อนภาพได้เร็วกว่า ขณะที่เอสเอ็มอี รายย่อยทั่วไป ยังมีความอึดอัด ค้าขายไม่คล่องตัว ยังตกงาน จึงต้องระวังเรื่องหนี้ครัวเรือน ปัญหาหนี้ NPL โดยต้องใช้นโยบายการคลังมาช่วยเสริม ขณะที่ ธปท. ต้องดูแลสถาบันการเงินให้ทำงานดูแลสินเชื่อได้อย่างมีเสถียรภาพ มุ่งอัดฉีดเงินผ่านสินเชื่อออกสู่ระบบ 2.5-2.6 แสนล้านบาท
ที่สำคัญไทย ต้องให้ความสำคัญกระแสโลกในการรักษาสิ่งแวดล้อม ตามพันธสัญญากับเวทีโลก เนื่องจากไทย จะเป็นประเทศอันดับ 9 ของโลก ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาโลกร้อน ทั้งระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เนื่องจากเขตอีอีซี และเมืองหลวงอยู่ใกล้ทะเล กระทบต่อภาคท่องเที่ยว ไทยมีแรงงานภาคเกษตรจำนวนมาก หากมีปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม กระทบต่อเกษตรสูงมากในระยะยาว 20-30 ปี ข้างหน้า นอกจากนี้ ประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจ เริ่มออกมาตรการกีดกันทางการค้า กำหนดเงื่อนไขในการป้องกันสิ่งแวดล้อม หากไม่ปรับตัวจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าต่างๆ กระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ.-สำนักข่าวไทย