ทำเนียบฯ 26 ต.ค.-รัฐมนตรีพาณิชย์เผยตัวเลขส่งออกเดือน ก.ย.64 ยังเป็นบวกต่อเนื่องร้อยละ 17.1 แต่น้อยกว่าเดือน ส.ค.เนื่องจากผลกระทบโควิดทั่วโลก แต่หากดูตัวเลข 9 เดือนบวกถึงร้อยละ 15.5 มั่นใจยอดทั้งปีบวกเกินร้อยละ 4 แน่
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกของประเทศในเดือนกันยายน 64 พบว่า ยอดการส่งออกยังเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 17.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 23,036.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากหักทองคำและนำ้มันรวมถึงยุทธปัจจัยต่างๆตัวเลขส่งออกของไทยบวกร้อยละ 14.8 โดยการส่งออกเดือนกันยายนถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แม้ทิศทางการส่งออกของโลกอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิดในหลายประเทศทั่วโลกยังเป็นผลกระทบอยู่บ้าง แต่ภาครัฐและเอกชนยังคงเดินหน้าร่วมกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ รวมถึงเร่งเจาะตลาดต่างๆอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ยุโรปและอีกหลายประเทศเพื่อให้การส่งออกในแต่ละเดือนให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าสินค้าในเดือนกันยายน 64 อยู่ที่ 22,426.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นบวกร้อยละ 30.3 โดยไทยยังได้ดุลการค้าในเดือนกันยายน 64 อยู่ที่ 609.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกปี 64 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 64 โดยเป็นยอดส่งออกทั้งสิ้น 199,997.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตถึงร้อยละ 15.5 ขณะที่ตัวเลขการนำเข้า 9 เดือนมียอดอยู่ที่ 197,980.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นบวกร้อยละ 30.9 ทำให้ไทยเกินดุลการค้าช่วง 9 เดือนอยู่ที่ 2,016.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดียังคงเป็นสินค้าในกลุ่มอาหารสด ผลไม้ไทยของไทยหลายตัวยังมีความต้องการของตลาดโลกสูงขึ้น รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น ถุงมือยางที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นส่งผลดีกับราคายางพาราของไทยในช่วงนี้ดีขึ้นด้วย รวมถึงกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยเริ่มส่งออกได้มากขึ้น แม้ว่าทั้งโลกรวมถึงไทยยังเจอปัญหาโควิด-19 ระบาดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือปีนี้ แม้จะอยู่ในช่วงโควิด แต่จากแนวทางการเปิดประเทศของไทยนอกจากจะกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวแล้ว ยังจะส่งเสริมภาคการส่งออกอีกด้วย โดยหลังกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับภาคเอกชนจะเดินหน้าหาตลาดใหม่เพื่อเร่งผลักดันการส่งออกเป็นภาระกิจสำคัญ โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ ค่าเงินบาทที่ยังอ่อนและมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่า จะช่วยทำให้สินค้าของไทยสามารถแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกได้ แม้ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น แต่จะมี 2 มุม มุมลบคือ ทำให้ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น แต่ก็ทำให้สินค้าส่งออกของไทยที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย มีส่วนเสริมทำให้ตัวเลขส่งออกมากขึ้น และภาคการผลิตด้านอุตสาหกรรมของไทยฟื้นตัวเร็ว แม้จะเจอกับภาวะการล็อกดาวน์และโควิด ดังนั้น ด้วยปัจจัยดังกล่าวยังคงมองว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 64 บวกได้เกินร้อยละ 4 หรือคิดเป็นมูลค่า 240,727 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้.-สำนักข่าวไทย