ทำเนียบรัฐบาล 1 ต.ค.-รัฐบาลแจงข้อสงสัยฝ่ายค้าน ยันแก้ปัญหาน้ำแล้ง-ท่วมทุกมิติ บูรณาการแผนงานทุกหน่วยงาน ไม่ต่างคนต่างทำเหมือนอดีต เพิ่มพื้นที่ชลประทานแล้วกว่า 2 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้กว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. ลดแผนงานซ้ำซ้อน ใช้งบคุ้มค่า
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข้อสงสัยของฝ่ายค้านเกี่ยวกับผลงานการบริหารจัดการน้ำในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมทุกทมิติ ทั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี นำไปสู่การร่วมกันดำเนินงานของทุกหน่วยงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนอดีตที่ผ่านมา และมีผลงานที่เป็นรูปธรรม อาทิ เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้แล้วกว่า 2 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้กว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านไร่ และมีจำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์กว่า 6 ล้านครัวเรือน ทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 3,347 แห่ง จาก 5,472 แห่ง สระน้ำในไร่นา 190.59 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63% พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 118.43 ล้าน ลบ.ม. ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติ 225 แห่ง เป็นต้น
“สำหรับโครงการชลประทานที่ดำเนินการสำเร็จและสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนแล้ว อาทิ โครงการพัฒนาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้า ขับเคลื่อนไป 133 โครงการ จาก 526 โครงการ ซึ่งประกอบด้วย แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่น บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ บึงราชนก จ.พิษณุโลก บึงสีไฟ จ.พิจิตร หนองหาร จ.สกลนคร รวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปัจจุบันดำเนินการเสร็จ 6 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำหนองค้อ จ.ชลบุรี โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณการจ่ายน้ำท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ จ.ชลบุรี โครงการสระทับมา จ.ระยอง และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกระแส จ.ชลบุรี ประโยชน์ที่ได้คือ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อรองรับโครงการ EEC ได้รวมกันประมาณ 250.45 ล้าน ลบ.ม.” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้ตรวจสอบข้อมูลลดความซ้ำซ้อนของแผนงานด้านน้ำ มุ่งเน้นการใช้งบประมาณให้คุ้มค่าที่สุด ทำให้ประหยัดงบประมาณด้านน้ำได้กว่า 60,000 ล้านบาท รวมถึงการนำเทคโนโลยีพัฒนาแพลตฟอร์ม เชื่อมโยงข้อมูล จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center : SWOC) การติดตั้งระบบเพื่อการพยากรณ์น้ำและเตือนภัยลุ่มน้ำสำหรับการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ การพัฒนาฐานข้อมูลกลาง Big Data การพัฒนาแอปพลิเคชัน WMSC (Water Watch and Monitoring System For Warning Center) จัดทำคลังข้อมูลน้ำในรูปแบบ One Map ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน National Thai Water ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตรและน้ำ 4.0
“นายกรัฐมนตรีกำชับเสมอว่าการเสนอของบประมาณจะต้องเป็นแผนงานที่ทำได้จริง เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด เช่นเดียวกับงบประมาณการบริหารจัดการน้ำ เน้นการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ประกอบในการจัดทำงบประมาณด้านน้ำ เพื่อครอบคลุมการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ครอบคลุมการแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม การเก็บกักน้ำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนที่มั่นคงสำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และรักษาระบบนิเวศด้วย สำหรับการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัยในขณะนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ส่วนราชการระดับพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่ทำกิน สัตว์เลี้ยง โดยรัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุด” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย