ทำเนียบรัฐบาล 7 ก.พ. – นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ว่า ที่ประชุมรับทราบแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม หวังให้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาธุรกิจกลุ่ม S-Curve ของรัฐบาล เนื่องจากประเมินว่าแนวโน้มการส่งมอบเครื่องบินอากาศยานในช่วง 20 ปีข้างหน้า (2556-2578) เปลี่ยนทิศทางไปจากเดิมอย่างมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมอากาศยานในเอเชียแปซิฟิกขยายตัวมากขึ้นตามการเติบโตของสายการบินโลว์คอส โดยเฉพาะจีนสั่งผลิตเครื่องบินแอร์บัส โบอิ้ง จำนวนมาก จึงมีการส่งมอบอากาศยานใหม่สูงถึง 35,000 ลำ ในแถบเอเชียมีส่วนแบ่งทางการตลาดจากร้อยละ 26 ในปี 2556 เพิ่มเป็นร้อยละ 36 ในปี 2575 มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของโลก
ดังนั้น กระทรวงคมนาคมเสนอแผนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงและอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน พ.ศ. 2560-2575 เพื่อมุ่งสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคอาเซียน โดยจะสนับสนุนการดำเนินงาน 3 กิจกรรม คือ การซ่อมบำรุง โดยจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศให้เพียงพอ เตรียมดำเนินการได้ภายใน 15 ปี การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน พัฒนาชิ้นส่วนเป็นของไทย รองรับการเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค และการพัฒนาบุคคลากรด้านการบิน เพิ่มบุคคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ ตามแผนดังกล่าวจะสร้างผลตอบแทนต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศกว่า 10,000 ล้านบาท และลดค่าใช้จ่ายนำเครื่องบินไปซ่อมต่างประเทศปีละ 6,500 ล้านบาท รวมถึงเกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มอีก 7,000 ตำแหน่ง เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภารองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานในภูมิภาค เมื่อนักลงทุนมองเห็นว่ารัฐบาลเดินหน้าจริงจังจึงสายการบินขนาดใหญ่พร้อมเข้ามาร่วมลงทุนจำนวนมาก. – สำนักข่าวไทย