กทม. 8 ก.พ.-เทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเทรนด์ที่ถูกนำมาใช้กับรถยนต์ในไทยมากขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยีปลั๊กอิน ไฮบริด เป็นเทคโนโลยีคั่นกลาง ก่อนจะนำไปสู่การเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ
รัฐบาลไทยตั้งเป้าผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยปัจจุบันเทคโนโลยีปลั๊กอิน ไฮบริด เป็นเทคโนโลยีคั่นกลาง ก่อนจะนำไปสู่การเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยหลายค่ายรถยนต์ในบ้านเราก็หันมาจับตลาดกลุ่มนี้ และมียอดขายเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ภาครัฐเดินหน้าจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อจูงใจนักลงทุนให้เข้าถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ในบ้านเรามากขึ้น
รถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid) เป็นรถที่ใช้พลังขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์ผสานมอเตอร์ไฟฟ้า มีจุดเด่นอยู่ที่ความประหยัดเชื้อเพลิง มีอัตราการบริโภคน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 35-40 กิโลเมตรต่อลิตร สามารถชาร์จได้ด้วยไฟบ้าน และขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว (EV Mode) ได้มากกว่า 30 กิโลเมตร และไต่ความเร็วได้สูงถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยลดมลพิษจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงด้วย
ในตลาดรถบ้านเรา รถปลั๊กอิน ไฮบริด เริ่มทยอยเปิดตัวทำตลาดกันบ้างแล้ว แต่มักเป็นรถหรูราคาแพง ที่ดูเหมือนว่าการใช้มอเตอร์ไฟฟ้ามาร่วมขับเคลื่อนไม่ได้เน้นใช้เชื้อเพลิงประหยัดสุดๆ แบบอีโคคาร์ แต่กลับเน้นสมรรถนะทั้งด้านอัตราเร่งและความเร็วให้จัดจ้านและดุดันมากกว่า
ด้านบีเอ็มดับเบิ้ลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนการขายรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 5 ของยอดขายรวม เดินหน้าทุ่มงบกว่า 1,000 ล้านบาท ขยายโรงงาน เพิ่มการผลิตอีก 1 เท่า เพื่อรองรับตลาดในประเทศที่ขยายตัว ก่อนบุกตลาดอาเซียนในปีนี้
อย่างไรก็ดี การขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมและเข้าถึงง่ายเป็นโจทย์ที่ภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด และอีวีอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต พอๆ กับความท้าทายในการกระตุ้นแรงซื้อให้เห็นถึงคุณค่าการใช้งานที่ช่วยประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยมลพิษส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันต้องคุ้มค่าต่อการลงทุนของแต่ละค่าย โดยไม่ทำลายห่วงโซ่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อเนื่องบ้านเราเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย