สธ. 9 ก.ย.-กรมควบคุมโรค ชวนโรงงานทั่วไทยทำบับเบิลแอนด์ซีลแบบป้องกันโรค ลดโอกาสเกิดโรคระบาดทั้งโรงงานได้ โรงงานเดินได้เต็มสูบ แบ่งพนักงานเป็นกลุ่มย่อยๆ ทำให้รู้โรคเร็ว คุมง่าย
นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานประกอบกิจการและโรงงานหลายแห่งได้รับผลกระทบ กรมควบคุมโรคจึงนำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) มาใช้ควบคุมโรคในโรงงาน โดยออกแบบ 2 ระบบ คือ ระบบการควบคุมโรค ซึ่งใช้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น จ.สมุทรสาคร ในช่วงเดือน ม.ค.64 แต่ละแห่งมีพนักงานจำนวนมาก โดยทำการคัดแยกผู้ติดเชื้อ มาแยกกักรักษาตัวที่ รพ.สนาม หรือสถานที่แยกกักอื่นๆ ส่วนพนักงานในโรงงานที่สัมผัสโรค แต่ไม่ป่วย ให้โรงงานจัดที่พักในโรงงานแยกจากครอบครัว ชุมชน และให้สามารถทำงานได้ พบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในช่วงสั้นๆ ประมาณ 4 สัปดาห์ จึงพัฒนามาสู่ระบบบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อป้องกันโรคในโรงงาน ที่ยังไม่มีการระบาด ซึ่งมีมากกว่าโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อ หลังจากที่ดำเนินการในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผลพบว่าแทบไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดเลย หรือมีก็น้อยมากและสามารถควบคุมได้เร็ว ทั้งแรงงานและโรงงานไม่ต้องหยุดการผลิต พนักงานยังมีรายได้ปกติ โรงงานสามารถผลิตได้เต็มศักยภาพ ไม่กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ
“อยากเชิญชวนให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่ง ไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ ให้จัดทำแผนทำบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อการป้องกันโรค โดยแบ่งกลุ่มพนักงานที่ไลน์การผลิตเดียวกันออกเป็นกลุ่มย่อยๆ (small bubble) ไม่ปะปนกัน เพื่อจำกัดการแพร่เชื้อระหว่างกลุ่ม เนื่องจากจะตรวจสอบและควบคุมได้ ลดการเกิดโรคโควิด-19 ระบาดทั้งโรงงาน ไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของโรงงาน” นพ.อภิชาต กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทุกโรงงานต้องมีการสุ่มตรวจการติดเชื้อพนักงานด้วยชุดเอทีเค (Antigen Test Kit : ATK) เพื่อเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรือมากกว่า แรงงานที่ไม่พบการติดเชื้อก็สามารถผลิตต่อไปได้ไม่ต้องหยุด การที่โรงงานได้ทำบับเบิลเพื่อการป้องกันโรคไว้ จะเสมือนเป็นการสร้างกำแพงป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก ป้องกันการระบาดเข้าสู่ภายในโรงงาน ส่วนพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเอง คือ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลดการปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ไม่เข้ากลุ่มที่มีคนจำนวนมาก เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมระบบที่ปรึกษา ซึ่งบูรณาการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย มี 3 ระดับ คือ ส่วนกลาง ระดับเขต และระดับจังหวัด เพื่อให้คำแนะนำด้านเทคนิคความรู้ ระบบต่างๆแก่ผู้ประกอบการโรงงาน รวมทั้งการลงพื้นที่เพื่อติดตาม ประเมิน กำกับการดำเนินงาน นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ยังจัดทำคู่มือองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการทำบับเบิลแอนด์ซีล รวมทั้งกรณีตัวอย่าง เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมฯ www.ddc.moph.go.th เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทางดำเนินงาน.-สำนักข่าวไทย