เชียงใหม่ 14 ก.พ.- สดร. ชวนชมดาวศุกร์สว่างสุกใสที่สุดถึง 2 ครั้งในรอบปี ช่วง 17 ก.พ. และ 30 เม.ย. เห็นได้ทั่วไทยด้วยตาเปล่า สว่างชัด
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยว่า วันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ หลังดวงอาทิตย์ตกเวลาประมาณ 18.30-20.30 น. และรุ่งเช้าของวันที่ 30 เมษายนนี้ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาประมาณ 04.00-06.00 น. ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างสุกใสที่สุดในรอบปี สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในทุกภูมิภาคของประเทศ คาดว่าจะมีความสว่างปรากฏถึงแมกนิจูด -4.6 (ระดับของความส่องสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวง แมกนิจูด -12.6) หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ ยังสามารถสังเกตเห็นดาวอังคารอยู่เหนือดาวศุกร์ขึ้นไปประมาณ 7 องศา และวันที่ 25 มีนาคม ดาวศุกร์จะอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก เรียกว่า ตำแหน่งร่วมทิศวงใน หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวบางมาก ๆ จนกระทั่งวันที่ 30 เมษายน ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ดาวศุกร์จะโคจรอยู่ในตำแหน่งห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกมากที่สุดด้วย
ดร.ศรัณย์ กล่าวด้วยว่า ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ในระบบสุริยะ ถัดจากดาวพุธ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก สามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ด้วยตาเปล่าได้ง่ายเพราะดาวศุกร์มีความสว่างมาก ดาวศุกร์นับเป็นวัตถุที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าไม่นับรวมดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับดาวพุธ เนื่องจากทั้งสองเป็นดาวเคราะห์วงในเหมือนกัน ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดได้ถึง 47.8 องศา เราจึงสามารถสังเกตดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น หากสังเกตเห็นดาวศุกร์ในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกปรากฏทางทิศตะวันตก คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากสังเกตเห็นดาวศุกร์ในช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นปรากฏทางด้านตะวันออก คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประกายพรึก” เป็นที่น่าสังเกตว่าดาวศุกร์จะไม่เคยปรากฏให้เห็นอยู่กลางท้องฟ้า หรือปรากฏในเวลาดึก ๆ.-สำนักข่าวไทย