กทม. 23 ส.ค.-กรมอนามัย ยกระดับเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 ในตลาด ต้องตรวจ ATK ทุก 7 วัน หรือสุ่มตรวจร้อยละ 10 จัดคนควบคุมกิจกรรมในตลาด เช่น ห้ามจับกลุ่มกันกินข้าว
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงถึงการระบาดโควิด-19 ในลักษณะกลุ่มก้อน ที่มักเกิดในสถานที่ผู้คนมารวมกลุ่มใกล้ชิดกัน มีความแออัด เช่น ตลาด ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาด ทั้งคนที่เข้าไปในตลาด, สถานที่ คือตัวตลาด และระบบบริหารจัดการ ที่เป็นไปตามลักษณะของตลาดนั้นๆ และสถานที่ตั้งว่า อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดและผู้คนที่ทำงานในตลาดมีความเสี่ยงสูง เช่น แรงงานต่างด้าว
สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในตลาด ตั้งแต่ 1 เมษายนถึง 10 สิงหาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อครอบคลุม 23 จังหวัด ในตลาด 132 แห่ง พบผู้ติดเชื้อ 14,678 ราย มีข้อสังเกตคือตลาดที่พบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ ร้อยละ 70 ไม่ได้ประเมิน TSC (Thai Stop COVID) หรือประเมินแต่ไม่ผ่าน เป็นจำนวนถึง 93 ตลาด มีผ่านเพียง 33 ตลาดหรือ 25% แสดงให้เห็นว่าหากตลาดทั้งหมดได้ศึกษาแนวทางและปฏิบัติตัวตาม หรือประเมินตนตาม TSC ก็จะลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดลงได้
ดังนั้นกรอบการป้องกันและการควบคุมโรคโควิด-19 ในตลาด ที่ต้องเพิ่มความความเข้มข้นขึ้นจากนี้ คือหากพบการติดเชื้อ หรือการแพร่ระบาด ในตลาดนั้นๆ จะดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคและจัดการสุขาภิบาล หรือ bubble and seal จนไม่พบผู้ติดเชื้อ 14 วัน จึงกลับเข้ามาเฝ้าระวังตามกำหนด ก่อนเปิดตลาดอีกครั้ง
ส่วนแผนการว่าระวังเชิงรุกในตลาด ต้องสุ่มตรวจในผู้ขายและแรงงานตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ร้อยละ 10 หากพบตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ต้องดำเนินมาตรการค้นหาผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทั้งตลาด หากพบผู้ติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 10 จะหยุดเพื่อทำความสะอาดปรับปรุงสุขาภิบาล เน้นปิดแผงค้าที่พบติดเชื้อให้ครบ 14 วัน แต่หากพบเกินร้อยละ 10 ต้องปิดตลาดให้ครบ 14 วัน ควบคู่กับสำรวจชุมชนที่พักรอบตลาด ทำ Community Isolation และให้วัคซีนชุมชนรอบตลาดและผู้ค้าที่ยังตรวจไม่พบติดเชื้อ
สำหรับการยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ในตลาดพื้นที่สีแดงเข้ม จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการ
1) มาตรการด้านบุคคล
-ให้มีพนักงานตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ขายและผู้ช่วยอย่างน้อยทุก 4 ชั่วโมง
-นอกจากพ่อค้าแม่ค้า ต้องเพิ่มความสำคัญผู้เข้าใช้บริการ ผู้อยู่โดยรอบตลาด คงมาตรการคัดกรองผู้มีอาการสงสัยติดเชื้อและมีประวัติเสี่ยง ต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ทุกคน ตามความพร้อม โดยเฉพาะตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ หรือสุ่มตรวจร้อยละ 10 โดยเฉพาะผู้ค้าและลูกจ้าง ต้องมีหลักฐานการตรวจ ATK แสดงก่อนเข้าตลาดไม่เกิน 7 วัน หรือมีหลักฐานแสดงว่าได้รับการฉีดวัคซีนสองเข็มมาแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือเคยติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยง มีหลักฐานแสดงว่าแยกกักไม่น้อยกว่า 14 วันมาแสดง
2) มาตรการด้านสถานที่
-ให้ประเมินการปฏิบัติ ด้วย Thai Stop COVID+
-จัดจุดเข้า-ออกทางเดียว หรือน้อยลง พร้อมตรวจคัดกรองทุกคน วัดไข้ ดูประวัติเสี่ยง หลักฐานตรวจ/ฉีดวัคซีน/ถูกแยกกัก
-จัดคนควบคุมกำกับให้ทำตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อน ต้องเพิ่มให้เข้มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการล้างมือ หลังสัมผัสสิ่งของมากมาย
-จัดระบบสุขาภิบาลอนามัยสิ่งแวดล้อม ไม่แออัด เว้นระยะห่าง ระบายอากาศดี ทำความสะอาดฆ่าเชื้อผิวสัมผัสทุกชั่วโมง ทุกวัน หรือบ่อยขึ้น
-จัดระบบเพื่อลดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด ห้ามรวมกลุ่มพูดคุย หรือทานอาหารร่วมกัน
3) มาตรการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค ทั้งสุ่มเฝ้าระวังเชิงรุก เน้นตรวจคนมากขึ้น เพิ่มตรวจสิ่งแวดล้อม, พื้นผิว และผลิตภัณฑ์ เก็บน้ำเสียไปตรวจ มีแผนเผชิญเหตุพร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบและซ้อมแผน จัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่แยกกักกัน ควบคุมกลุ่มและการเดินทางไปกลับของคนในตลาด เช่น ไม่ให้แวะ สถานที่อื่น
อธิบดีกรมอนามัย ยังกล่าวว่า หากตรวจ ATK ผลเป็นลบ ไม่ได้หมายความว่าจะลบเสมอไป ต้องออกเอกสาร และตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ซึ่งหากพบผลบวก ต้องจัดสอบสวนโรค จัดกลุ่มผู้ติดเชื้อ, เอกซเรย์ปอด และนำเข้า HI หรือ CI
สำหรับมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ผู้ที่ไปในตลาด นอกจากสวมหน้ากากสองชั้น อย่าเผลอนำมือที่ยังไม่ได้ล้าง สัมผัสใบหน้า ระมัดระวังหลังออกจากห้องน้ำล้างมือให้สะอาด ผู้ซื้อควรวางแผนมุ่งซื้อของที่ต้องการในตลาดเท่านั้น ไม่เดินไปทั่ว.-สำนักข่าวไทย