เชียงใหม่ 9 ส.ค.- การเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 สำหรับเด็กชายขอบ อาจจะทำได้ไม่ง่าย แต่เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ ระยะทางไม่ใช่อุปสรรค ตามคอนเซปต์ “ลุยโคลนลุยน้ำ เส้นทางไม่ใช้อุปสรรค” ของคุณครูโรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน
“หยุดโรค ไม่หยุดเรียนรู้” on-hand เมื่อรถไปไม่ได้ก็เดินเท้ากันต่อไป ระยะทางไม่ใช่อุปสรรค เพื่อเด็กน้อยได้เรียนรู้ คอนเซปต์ของโรงเรียนล่องแพวิทยา ภาพการเดินทางของบรรดาเหล่าคุณครูนักสู้ โรงเรียนล่องแพวิทยา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ทั้งชายและหญิงกว่า 15 คน ที่ออกเดินทางส่งใบงานให้กับเด็กๆ นักเรียนตามหมู่บ้านเส้นทางที่เห็นเป็นเส้นทางมุ่งสู่บ้านโอโลคีล่าง-บ้านโอโลคีบน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
ถ้าในช่วงเวลาปกติก็จะเดินทางกันเฉลี่ยประมาณ 3 -4 ชั่วโมง สำหรับฤดูฝนช่วงนี้ คุณครูต้องอาศัยความชำนาญในการขับขี่รถขึ้นเขาสูง ผ่านลำน้ำ จุดไหนขึ้นไม่ได้ก็ต้องพากันเข็นรถที่คิดโคลนใช้เวลามากถึง 5-6 ชั่วโมง ถึงหมู่บ้านเพื่อส่งใบงานให้กับเด็กนักเรียน เพื่อให้เด็กๆ นักเรียนโรงเรียนล่องแพวิทยา 679 คน ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านได้รับใบงานครบถ้วนทุกคน โดยคุณครูจะแบ่งสายกันออกเดินทางแจกจ่ายใบงานไปทุกหมู่บ้านที่มีนักเรียนอาศัยอยู่ในพื้นที่ 18 หมู่บ้าน เขตรอยต่อ 3 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก
ด้านนายสยาม เรืองสุกใส ผู้อำนวยการโรงเรียนล่องแพวิทยา ได้เผยแพร่ข้อมูลการแนวทางและแผนการเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงเรียนชายขอบว่า ในช่วงที่ความท้าทายใหม่กำลังฉุดกระชากต่อสู้กับโรคระบาดครั้งใหญ่สุดอีกครั้งในประวัติศาสตร์โลก วิธีการและแนวคิดมากมายถูกนำเสนอและสร้างทางเลือกให้กับผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา เพื่อเอาชนะข้อจำกัดของการเรียนการสอน และสามารถให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง แม้กระทรวงศึกษาเสนอแนวคิดและวิธีการหลาย ON ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบ on-site, on-air, online, on-demand และ on-hand แต่องค์ประกอบหลักและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ไม่ว่าจะในรูปแบบ on ไหนๆ ก็ตามนั่นคือ “ครู” ซึ่งเป็นด่านหน้าที่จะกำหนดชัยชนะของสมรภูมิการเรียนรู้ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้
“on-feet” และ “on – heart” หรือ การจัดการเรียนรู้ด้วยการเดินเท้าเข้าสู่พื้นที่ และการขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยหัวใจ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโรงเรียนชายขอบเช่นพวกเราเสมอ.-สำนักข่าวไทย