.ป.ช. 27 ก.พ.-ประธาน ป.ป.ช.ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอบคดีสินบนข้ามชาติอย่างบูรณาการ ยืนยันทำงานเต็มที่ เผยคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ขณะนี้อยู่ในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความชัดเจน ก่อนตั้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำความผิด ขณะที่อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ยอมรับติดปัญหาโทษสูงสุดประหารชีวิตที่ต่างชาติไม่ยอมรับ แต่มีทางออกโดยรัฐเปลี่ยนแปลงโทษได้
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยภายหลังการหารือคณะกรรมการประสานและเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ ว่า ขณะนี้มีคดีการติดสินบนข้ามชาติที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ทั้งหมด 12 คดี ซึ่งหลังจากนี้จะบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) โดยให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้กำหนดทิศทางเท่านั้น เพื่อไม่ให้การขอข้อมูลจากต่างประเทศกระจัดกระจายและซ้ำซ้อน
“โดยที่ประชุมได้มีมติว่าในส่วนของการประสานขอข้อมูลอย่างเป็นทางการ มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด แต่หากเป็นการประสานข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ สำนักงาน ป.ป.ช.จะเป็นผู้ดำเนินการ ขอยืนยันว่า ทุกหน่วยงานจะทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ และขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ให้เบาะแส หรือข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบต่อไป” พล.ต.อ.วัชพรกล กล่าว
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีสินบนโรลส์รอยซ์ ในขณะนี้ยังไม่ได้มีการประสานขอข้อมูลจากประเทศอังกฤษอย่างเป็นทางการ แต่ ป.ป.ช.ได้ขอข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว เพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลของ สตง. และบริษัทการบินไทยที่ได้ส่งมายัง ป.ป.ช.แล้ว และขณะนี้อยู่ในชั้นของการแสวงหาข้อเท็จจริงที่จะรวบรวมข้อมูลจนเกิดความชัดเจน ก่อนตั้งข้อกล่าวหากับผู้ที่กระทำความผิด เพื่อนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และเมื่อพบความผิดที่ชัดเจนแล้ว ก็จะให้ อสส.ประสานเพื่อขอข้อมูลอย่างเป็นทางการกับประเทศอังกฤษต่อไป ทั้งนี้ คดีดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา โดยช่วงเวลาแรก ตั้งแต่ปี 2534-2535 และช่วงเวลาที่สอง ตั้งแต่ปี 2535-2540 ได้รับข้อมูลค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว แต่ในช่วงเวลาที่สาม ตั้งแต่ปี 2547-2548 ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องทำงานร่วมกับการบินไทย เพื่อตรวจสอบต่อไป และหากมีข้อมูลครบถ้วนแล้ว จะนำไปวิเคราะห์ว่ามีผู้เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลาอย่างไรบ้าง
ด้านนายอำนาจ โชติชัย อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า กฎหมายของไทยในคดีทุจริต กำหนดโทษสูงสุดคือการประหารชีวิต ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศอังกฤษในการจัดส่งข้อมูล แต่กรณีนี้มีทางออก โดยให้คณะรัฐมนตรีมีมติทำหนังสือรับรองว่าจะให้ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนการประหารชีวิต ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามพระราชบัญญัติความร่วมมือคดีอาญาระหว่างประเทศ มาตรา 36/1 ฉบับแก้ไขใหม่ ที่ระบุว่า แม้ศาลพิพากษาสูงสุดให้ประหารชีวิตในคดีนี้ รัฐบาลสามารถเปลี่ยนแปลงใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิต
นายอำนาจ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม คดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการชุดนี้ มีทั้งสิ้น 12 คดี ประกอบด้วย คดีบริษัทเจเนอรัล เคเบิล คอร์ปอเรชั่น จ่ายสินบนทีโอทีและการไฟฟ้านครหลวง ติดตั้งสายเคเบิ้ล /คดีติดสินบนจัดซื้อเครื่องตรวจวินิจฉัยโรค กระทรวงสาธารณสุข / คดีติดสินบนจัดซื้อใบยาสูบจากเอกชนสหรัฐอเมริกาของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง / คดีติดสินบนนำเข้าสุราข้ามชาติของสรรพสามิต / คดีติดสินบนกรมศุลกากร หลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรู / คดีบริษัท พีทีที กรีนเอเนอร์ยี่ จัดซื้อที่ดินปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียไม่โปร่งใส / คดีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล บางกอก อารีน่าของ กทม. / คดีทุจริตสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวของ กทม. / คดีรับสินบนให้สัมปทานบริษัทเหมืองแร่ข้ามชาติ / คดีอดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยรับสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ / คดีอดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่ำรวยผิดปกติ และคดีเรียกรับสินบนโรลสรอยส์.-สำนักข่าวไทย