กรุงเทพฯ 10 มี.ค. – นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบเรื่องแผนระบบรับส่งและโครงการสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงรองรับการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) โดยให้ดำเนินโครงการขยายกำลังการแปรสภาพแอลเอ็นจีของมาบตาพุด LNG Terminal เพิ่มอีก 1.5 ล้านตันต่อปี วงเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่ ปตท.มอบหมายเป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ ปตท.มีมติอนุมัติให้บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (พีทีทีแอลเอ็นจี) เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีกำหนดส่งก๊าซเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติหรือดำเนินการ เชิงพาณิชย์ปี 2562 และเพื่อให้ตรงตามเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติที่ กกพ.จัดทำข้อบังคับว่าด้วยการจัดทำข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่ 3 พ.ศ. 2557 และฉบับแก้ไข ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2558 ตามประกาศ กกพ. รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการของสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่ 3 และการเชื่อมต่อ (LNG Terminal TPA Code)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พีทีทีแอลเอ็นจีออกประกาศเชิญชวนจองความสามารถในการให้บริการของมาบตาพุด LNG Terminal สำหรับกำลังการแปรสภาพแอลเอ็นจี ส่วนขยายเพิ่ม 1.5 ล้านตันต่อปี (กำลังการผลิตสูงสุดรวมเป็น 11.5 ล้านตันต่อปี) โดยมีกำหนดการให้ผู้ที่ประสงค์จะขอใช้บริการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนง พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 28 – 31 สิงหาคม 2560 และจะประกาศผลการจัดสรรปริมาณความสามารถในการให้บริการส่วนขยายเพิ่มวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะขอใช้บริการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดใน LNG Terminal TPA Code สามารถยื่นเอกสารสมัครเป็นผู้ขอใช้บริการสถานีแอลเอ็นจี เป็นการล่วงหน้าก่อนกำหนดวันจองได้ โดยสามารถศึกษาขั้นตอนและรายละเอียดได้ทาง www.pttlng.com
“ที่ผ่านมา กกพ.พยายามเร่งผลักดันให้ผู้ประกอบกิจการพลังงานรายใหม่เข้าใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติหรือสถานีแอลเอ็นจี โดยเคยร่วมกับ ปตท.และพีทีทีแอลเอ็นจี จัดสัมมนาสร้างความเข้าใจถึงหลักการและข้อกำหนดในการใช้หรือเชื่อมต่อกับระบบส่งก๊าซธรรมชาติ หรือการใช้บริการสถานีแอลเอ็นจี (TPA Code) ที่ ปตท.และพีทีทีแอลเอ็นจี จัดขึ้น ทั้งนี้ กกพ.คาดว่าจะมีผู้ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติรายใหม่สนใจจองความสามารถการให้บริการของมาบตาพุด LNG Terminal ซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ และมีความโปร่งใส ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ใช้พลังงานได้รับประโยชน์สูงสุด” นายวีระพล กล่าว.-สำนักข่าวไทย