รัฐสภา 4ส.ค.-“ไพบูลย์” ยันแก้ รธน.ไม่ล่ม แม้มีคนจ้องขวาง เชื่อเสร็จทันสมัยประชุม รับปูทางเลือกตั้งครั้งหน้า มั่นใจรัฐบาลอยู่ครบเทอม
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. …(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังมีข้อถกเถียงข้อบังคับที่ 124 ว่าจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่ามาตรการที่รับหลักมาวาระแรกมาหรือไม่ว่า อะไรที่อยู่ในหลักการเกี่ยวกับการเลือกตั้งบัตร 2 ใบสามารถดำเนินการได้
“ส่วนจะยื่นศาลรัฐธรรรมนูญตีความว่าสามารถทำได้หรือไม่นั้น เป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งที่ประชุมกมธ.ไม่มีอำนาจตีความข้อบังคับการประชุม และตัดสิทธิผู้ที่เสนอแปรญัตติโดยพลการไม่ได้ มั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ถูกคว่ำเหมือนร่างที่ผ่านมาเพราะแก้ไขรายมาตรา การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่มีอุปสรรคสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และและย้ำว่าประเด็นนี้ไม่ต้องทำประชามติ” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่การรวบรัดและเปิดช่องให้เตะถ่วงหรือใช้เกมการเมืองต่าง ต้องเดินหน้าตามข้อบังคับ ยอมรับว่ามีผู้ที่เสียประโยชน์ ไม่อยากให้แก้ไขระบบเลือกตั้ง และพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง โดยคิดว่าคนอื่นไม่รู้ ซึ่งไม่มีทางขัดขวางได้ เพราะต้องเดินหน้าตามรัฐธรรมนูญและไปวัดกันในสภาฯ เสียงข้างมากว่าอย่างไรก็เป็นตามนั้น
“ผมพูดด้วยหลักประชาธิปไตย แต่มีพวกที่อ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ต้องถามว่าเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ส่วนกรอบเวลาคาดว่าสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นวาระ 3 ในสมัยประชุมนี้ ก่อนวันที่ 18 ก.ย.นี้ จากนั้นเดินหน้าแก้ไขกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองและพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งคาดว่ากฎหมายลูกจะแล้วเสร็จในสมัยประชุมครั้งถัดไป” นายไพบูลย์ กล่าว
ส่วนเมื่อแก้ไขระบบเลือกตั้งแล้วเสร็จทั้งจะมีการยุบสภาหรือนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจลาออกทันทีหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน เพราะการยุบสภาเป็นอีกสถานการณ์หนึ่ง และต้องมีเหตุผล ซึ่งไม่ได้เขียนไว้ว่าเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนุญแล้วเสร็จต้องยุบสภาฯ แต่ยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการเตรียมพร้อมไว้สำหรับการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ แต่เป็นปี 2566 ตามวาระ โดยทุกอย่างเดินหน้าตามรัฐธรรมนูญที่ให้ทำงานครบวาระ ส่วนผู้ที่ออกมาเรียกร้องก็เป็นฝ่ายตรงข้าม ที่อยากเป็นรัฐบาล
“คนที่ออกมาเรียกร้องมีกี่คน เหตุใดจึงไม่เคารพเสียงของประชาชน 10 ล้านคน จึงอยากให้รอการเลือกตั้งในครั้งนี้มาพิสูจน์กัน ทำไมจะต้องให้เสียงคนนั้นคนนี้ จะมีความสำคัญมากกว่าเสียงประชาชนทั่วไป หรือผมหรือต่างคนก็มีคนละเสียงเท่ากัน ใครจะเสียงใหญ่กว่ากันนั้นไม่จริง ยิ่งบางคนมาแอบอ้างเป็นเพื่อนลูกสาวท่านนายกฯ ไปใช้ความเป็นอภิสิทธิ์ เที่ยวไปเรียกร้องเพื่อให้เสียงดังกว่าประชาชนคนอื่น หรือเป็นอภิสิทธิ์ชน ไม่ใช่นักประชาธิปไตย นักประชาธิปไตยต้องคำนึงว่ามีความเท่าเทียมกัน มีเสียงเท่ากัน 1 เสียง และเคารพเสียงคนอื่นด้วย” นายไพบูลย์ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า ขณะนี้มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลมาก ยืนยันหรือไม่ว่าจะอยู่ครบเทอม นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่เห็นว่าจะมีผู้ชุมนุมมากเลย และไมได้เขียนในรัฐธรรมนูญว่า หากมีการชุมุนมแล้วรัฐบาลต้องทำตาม มันไม่มีผลอะไร ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ออกมาต้องตระหนักว่าอย่ากระทำการผิดกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย