19 กรกฎาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Estadão Verifica (บราซิล)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
- การตรวจหาแอนติบอดี้ไม่อาจวัดประสิทธิผลของวัคซีน เพราะปัจจุบันยังไม่รู้ว่าค่าแอนติบอดี้เท่าใดจึงจะป้องกันโควิด 19 ได้
- ถึงแอนติบอดี้หลังฉีดวัคซีนจะมีไม่มาก แต่เซลล์ความจำจะกระตุ้นการสร้างแอนติบอดี้อีกครั้งเมื่อร่างกายติดเชื้อภายหลัง
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนโควิด 19 จากบริษัท Sinovac เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศบราซิล โดยชายผู้หนึ่งโชว์ผลการตรวจแอนตีบอดี้ในเลือด (Serology Test) หลังจากฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 2 ไปแล้ว 30 วัน ซึ่งผลปรากฏว่าพบค่าแอนติบอดี้แค่ 28% นำไปสู่การกล่าวอ้างว่าวัคซีน Sinovac ไม่ช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด 19
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
Serology Test คือหนึ่งในวิธีตรวจหาเชื้อโควิด 19 โดยการนำตัวอย่างเลือดมาตรวจหาแอนติบอดี้ของผู้ที่มีความเสี่ยงรับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2
แม้องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) จะยอมรับว่าการตรวจหาแอนติบอดี้ คือวิธีตรวจหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ได้ผล แต่วิธีเหล่านี้ไม่ควรใช้วัดระดับภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด 19 ในร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านการฉีดวัคซีนโควิด 19 มาแล้ว
สมาคมภูมิคุ้มกันแห่งชาติบราซิล (SBIm) ให้เหตุผลที่ไม่ควรหาค่าแอนติบอดี้หลังจากฉีดวัคซีนเอาไว้ 4 ข้อ
1.ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่าปริมาณแอนติบอดี้ที่เหมาะสมสำหรับป้องกันโรคควรมีค่าเท่าใด
2.อาจให้ผลลบลวง – ในกรณีที่ตรวจในช่วงที่ร่างกายยังไม่สร้างแอนติบอดี้
3.อาจให้ผลบวกลวง – ในกรณีที่ตรวจพบแอนติบอดี้ที่สร้างเพื่อป้องกันไวรัสชนิดอื่น ไม่ใช่แอนติบอดี้จากการฉีดวัคซีน
4.อาจให้ผลบวกลวง – ในกรณีที่ตรวจพบแอนติบอดี้ที่เกิดจากการติดเชื้อครั้งก่อน ไม่ใช่แอนติบอดี้จากการฉีดวัคซีน
เมื่อปัจจุบันยังไม่สามารถรู้ได้ว่าค่าแอนติบอดี้เท่าใดจะสามารถป้องกันโควิด 19ได้ จึงไม่อาจบอกได้ว่าค่าแอนติบอดี้ 28% ของเจ้าของโพสต์ มีผลต่อการป้องกันโรคได้มากน้อยแค่ไหน
แอนติบอดี้ยังไม่ใช้กลไกเดียวที่ใช้ในการป้องกันโควิด 19
ในกรณีของวัคซีน Sinovac เมื่อวัคซีนเข้าสู่ร่างกายแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะผลิตแอนติบอดี้จากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด B Cell เพื่อใช้ต้านทานไวรัสเชื้อตายที่อยู่ในวัคซีน และเป็นการป้องกันการติดเชื้อในอนาคต
นอกจากนั้นแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันยังมีกลไกที่เรียกว่าเซลล์ความจำ (Memory Cell) ที่ช่วยในการจดจำเชื้อโรคที่ร่างกายเคยต่อสู้มาก่อน
ลูอิซ คาร์ลอส ดิแอส ศาสตราจารย์ด้านเคมีจาก Unicamp ศูนย์ปฏิบัติการณ์โควิด 19 ของบราซิล อธิบายว่าการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกกำหนดด้วย 2 สิ่ง คือสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ซึ่งไหลเวียนในกระแสเลือด แต่แอนติบอดี้จะสูญสลายเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อร่างกายกลับมาติดเชื้อในช่วงที่ระดับแอนติบอดี้มีปริมาณไม่เพียงพอ เซลล์ความจำ (Memory Cell) ซึ่งจดจำแอนติเจนของไวรัสได้ จะเร่งผลิตแอนติบอดี้ในช่วงสัปดาห์แรกของการรับเชื้อ และทำการกำจัดไวรัสก่อนที่จะร่างกายจะติดเชื้อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อร่างกายกลับมาติดเชื้อไวรัสอีกครั้ง จึงไม่สามารถวัดด้วยวิธีการตรวจหาแอนติบอดี้หรือ Serology Test ได้
นาตาเลีย พาสเตอร์แนค นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย University of São Paulo ย้ำว่าแอนติบอดี้ไม่ใช่กลไกเดียวในการต่อสู้กับเชื้อโรค การไม่พบแอนติบอดี้ปริมาณมากๆ แม้จะเพิ่งฉีดวัคซีนไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ ปริมาณแอนติบอดี้จะกลับมาเพิ่มสูงในภายหลังเมื่อร่างกายกลับมาติดเชื้ออีกครั้ง เนื่องจากเซลล์ความจำจะกระตุ้นการสร้างแอนติบอดี้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ในระบบภูมิคุ้มกันยังมีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T Cell ที่คอยทำหน้าที่กำจัดเชื้อไวรัสเช่นกัน
วัคซีน Sinovac คือ 1 ใน 6 วัคซีนโควิด 19 ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยผลการทดลองล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2021 โดยสถาบัน Butantan Institute ผู้ผลิตวัคซีน Sinovac ในประเทศบราซิลระบุว่า การฉีดวัคซีน Sinovac ให้กับประชากรในเมืองแซร์ราน่า รัฐเซา เปาโล ทำให้ยอดผู้ป่วยโควิด 19 ลดลง 80%, จำนวนผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง 86% และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ลดลง 95%
ส่วนการทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 67,000 คน ในเมืองมาเนาส์ รัฐอะมาซอนาส ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่าวัคซีน Sinovac ยังมีประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์แกมม่าได้อีกด้วย
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter