โตเกียว 10 มี.ค. – รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมออกกฎหมายควบคุมการสูบบุหรี่ที่มีความเข้มงวดมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็นดินแดนปลอดบุหรี่ ก่อนเปิดบ้านต้อนรับแขกจากทั่วโลกที่จะเดินทางมาชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2563
รายงานระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเตรียมที่จะเสนอกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในร้านอาหารและอาคารสาธารณะหลายแห่ง เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยหากกฎหมายฉบับนี้ได้รับการอนุมัติและมีผลบังคับใช้ ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 300,000 เยน (กว่า 92,000 บาท) ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ อาคารต่างๆ สามารถสร้างห้องสำหรับสูบบุหรี่แยกออกมาต่างหากได้ และสถานที่ที่มีพื้นที่ใช้สอยน้อยกว่า 30 ตารางเมตรจะไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของการห้ามสูบบุหรี่
อย่างไรก็ดี บริษัท เจแปน โทแบคโค (เจที) ผู้ผลิตยาสูบยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของโลกที่มีรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด รวมถึงบรรดาผู้ประกอบการเล็กๆ ต่างไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะทำให้สูญเสียฐานลูกค้า เจทีแสดงความรู้สึกกังวลว่า กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ฉบับใหม่จะสร้างความไม่สมดุล ไม่สมเหตุสมผล และเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ โดยระบุว่า เดิมทีญี่ปุ่นมีการคุมการสูบบุหรี่ตามสถานที่ต่างๆ นอกอาคารอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ขณะที่นักการเมืองของพรรครัฐบาลที่ต่อต้านกฎหมายห้ามสูบบุหรี่เห็นด้วยว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารควรมีสิทธิที่จะเลือก และสามารถติดสัญลักษณ์ตามจุดต่างๆ ที่สามารถสูบบุหรี่ได้
ด้านหน่วยงานควบคุมยาสูบของญี่ปุ่นเห็นด้วยที่รัฐบาลจะออกกฎห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคาร โดยระบุว่า ญี่ปุ่นได้รับคะแนนจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ต่ำมากในเรื่องของความพยายามป้องกันปัญหาการสูบบุหรี่มือสอง และว่า มีเพียงร้อยละ 10 ของร้านอาหารในญี่ปุ่นที่ห้ามสูบบุหรี่ภายในร้าน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังช้ามากเมื่อเทียบกับอีกเกือบ 50 ประเทศที่มีการประกาศห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ บรรดาผู้รณรงค์กล่าวว่า การสูบบุหรี่น้อยลงจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนให้เดินทางมายังญี่ปุ่นในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในอีก 3 ปีข้างหน้า รวมถึงเป็นการพัฒนาส่งเสริมวัฒนธรรมต้อนรับแขกต่างบ้านต่างเมืองของประเทศด้วย
ผู้อำนวยการของดับเบิลยูเอชโอในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์กล่าวว่า มีชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละราว 130,000 คน และอีกกว่า 15,000 คนเสียชีวิตจากการสูดควันบุหรี่มือสอง.-สำนักข่าวไทย