กรุงเทพฯ 6 ก.ค. – กรมควบคุมมลพิษเฝ้าระวังผลกระทบจากไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ อย่างต่อเนื่อง ส่งรถตรวจสอบคุณภาพอากาศ พร้อมคำนวณค่าความเข้มข้นของสารสไตรีน พบว่า ระยะ 1 กิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุมีค่าความเข้มข้นสูงกว่าระดับ 2 มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ไม่ร้ายแรง
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษในการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบจากไฟไหม้โรงงาน หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา ให้นำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศแบบเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ไปติดตั้งบริเวณเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ด้านทิศเหนือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) เพื่อตรวจวัดสารที่ก่อมลพิษได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 และPM2.5 ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โอโซน (O3) และ ไฮโดรเจนซัลเฟอร์ (H2S) หรือก๊าซไข่เน่า อีกทั้งจะนำเครื่องตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 แบบอัตโนมัติสำหรับตรวจวัดภายนอกอาคาร (Outdoor) ไปติดตั้งเพิ่มเติมตามชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีความเสี่ยง เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองและผลกระทบที่ชุมชนจะได้รับจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวอีกด้วย
นอกจากนี้ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียงได้คำนวณค่าความเข้มข้นของสารสไตรีน โดยใช้ Box Model ซึ่งใช้ข้อมูลอัตราการระบายจากแหล่งกำเนิด มาประมวลผลร่วมกับสภาพอุตุนิยมวิทยาของพื้นที่ คำนวณจากรัศมี ใน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะ 1 กิโลเมตร 3 กิโลเมตร และ 5 กิโลเมตร ซึ่งจากการคำนวณจะได้ค่าความเข้มข้นของสารสไตรีน ดังนี้ รัศมี 1 กิโลเมตร มีค่า 1,035.47 ppm (หนึ่งในล้านส่วน) รัศมี 3 กิโลเมตร มีค่า 86.43 ppm และรัศมี 5 กิโลเมตร มีค่า 51.77 ppm ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษออกประกาศเรื่อง กำหนดค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันของสารสไตรีนไว้ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 มีค่า 20 ppm ซึ่งเป็นระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ระดับที่ 2 มีค่า 130 ppm ซึ่งเป็นระดับที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ร้ายแรง และระดับที่ 3 มีค่า 1,100 ppm ซึ่งเป็นระดับที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต
ดังนั้นจากค่าที่กรมควบคุมมลพิษตรวจคำนวณได้พบว่า ในรัศมี 1 กิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุซึ่งมีค่าความเข้มข้นสูงสุดของสารสไตรีนในบรรยากาศถึง 1,035.47 ppm จึงยังคงต่ำกว่าค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันตามประกาศกรมควบคุมมลพิษซึ่งกำหนดระดับ 3 ที่ 1,100 ppm ซึ่งเป็นระดับที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่สูงกว่าระดับ 2 ค่าความเข้มข้น 130 ppm ซึ่งเป็นระดับที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ร้ายแรง ส่วนรัศมี 3 และ 5 กิโลเมตรอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยจะนำไปประกอบการแจ้งเตือนประชาชนต่อไป. – สำนักข่าวไทย