กรุงเทพฯ 1 มี.ค.-มีข้อเสนอให้สามารถพิจารณาคดีนักการเมืองทุจริตลับหลังได้ และไม่นับอายุความ กรณีผู้ต้องหาหลบหนี โดยจะบัญญัติไว้ในกฎหมายลูก ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านประชามติ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมาตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 ผ่านมา 20 ปี มีหลายประเด็นที่ยังเป็นช่องโหว่ ที่จะต้องมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยโจทย์ใหญ่ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญตั้งไว้ คือ ทำอย่างไรเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว อำนวยความยุติธรรมได้ สามารถเอาผิดตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังได้จริง การทำงานของอัยการกับผู้ส่งฟ้องมีความเห็นสอดคล้องกัน สุดท้ายคือคนที่ทำงานด้านยุติธรรม คือ ศาลและองค์กรอิสระมีค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล สามารถดำรงอยู่ได้ตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงได้มีการสัมมนาระดมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ
ร่างที่สำนักงานศาลยุติธรรมยกร่างมานั้น สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะมาตรา 33 ที่กำหนดไม่ให้นับอายุความ หากจำเลยหลบหนีในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดี และให้มีบทลงโทษฐานหลบหนีคดีด้วย มาตรา 67 เปิดให้อุทรณ์ได้ทั้งข้อกฎหมายและหลักฐานใหม่ จากเดิมที่อุธรณ์ได้เฉพาะกรณีที่ต้องมีหลักฐานใหม่
ทั้งนี้ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า ทางออกที่ทำให้คดีทุจริตทางการเมืองไม่คั่งค้าง โดยที่ยังอำนวยความยุติธรรมได้ คือ การให้สามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ แม้จำเลยไม่มาศาลตั้งแต่นัดแรกที่มีการฟ้อง จนถึงวันตัดสิน แต่ได้มีเสียงท้วงติงว่าควรเขียนเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงสิทธิผู้ต้องหา เพราะการกำหนดเช่นนี้เป็นเสมือนการใช้ระบบไต่สวน เหมือนเปาบุ้นจิ้น ที่แม้ทำให้กระบวนการตัดสินเร็วขึ้นจริง แต่อาจจะพิจารณาหลักฐานได้ไม่รอบด้าน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีเสียงขานรับบนเวทีนี้มากสุด คือ เรื่องการไม่นับอายุความของนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาทุจริตแล้วหลบหนีคดี รวมถึงการเพิ่มข้อหากรณีที่หลบหนีไม่ไปศาลเพิ่มอีก 1 คดี เพราะเชื่อว่าจะทำให้จำเลยคิดหนักในการตัดสินใจว่าจะหนีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ กรธ.จะต้องนำกลับมาคิดและประมวลอีกครั้ง เพื่อให้ตอบโจทย์ที่ตั้งเอาไว้ คือ สามารถลงโทษนักการเมืองที่ทุจริตได้จริง โดยที่ยังความยุติธรรมเอาไว้ด้วย.-สำนักข่าวไทย