ลพบุรี 10 มิ.ย.- พาไปดู “กระท้อนตะลุง” (สินค้า GI) ผลไม้ของดีแห่ง จ.ลพบุรี ที่ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเอกลักษณ์ของกระท้อนตะลุง เกิดจากลักษณะภูมิประเทศในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่น้ำไหลทรายมูล เหมาะสมกับการผลิตกระท้อนคุณภาพดี
นายสุชาติ กลิ่นทองหลาง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จังหวัดร้อยเอ็ด รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดลพบุรี จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรกระท้อนตะลุง ของดี (GI) จังหวัดลพบุรีเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การจำหน่ายกระท้อนให้แก่เกษตรกร ซึ่งปัจจุบันจังหวัดลพบุรี มีพื้นที่ปลูกกระท้อนทั้งหมด 419 ไร่ อยู่ใน 3 ตำบลของอำเภอเมืองลพบุรี ได้แก่ ตำบลตะลุง ตำบลงิ้วราย และตำบลโพธิ์เก้าต้น ผลผลิตจะเริ่มออกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนสิงหาคม ในเดือนมิถุนายนนี้จะมีผลิตมากที่สุดราคากระท้อนผลสดจะอยู่ที่ 35-120 บาท ต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และขนาดผลผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่
เนื่องจากปีนี้มีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 จังหวัดลพบุรีจึงงดจัดงาน “เทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรี” ถึงแม้ไม่มีการจัดงาน แต่ทางอำเภอได้จัดสถานที่ไว้ให้เกษตรกรจำหน่ายบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองลพบุรีจึงขอเชิญชวนประชาชนมาชื้อกระท้อนของดีเมืองลพบุรี ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองลพบุรี โดยเริ่มจำหน่ายตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 นอกจากนี้ยังสามารถหาชื้อได้ทางเว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com
ด้านนายเจริญ พิมพ์ขาล หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี ร่วมกับหน่วยงานภาคี ผลักดันให้เกิดการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ของกระท้อนจังหวัดลพบุรี จนได้รับการรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ในชื่อ “กระท้อนตะลุง” จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีเกษตรกรผ่านการรับรองจำนวน 92 ราย ในพื้นที่ 315 ไร่ โดยกำหนดให้มีพื้นที่ปลูกในตำบลตะลุง ตำบลงิ้วราย และตำบลโพธิ์เก้าต้น เท่านั้น ซึ่งเอกลักษณ์ของกระท้อนตะลุง เกิดจากลักษณะภูมิประเทศในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่น้ำไหลทรายมูล เหมาะสมกับการผลิตกระท้อนคุณภาพดี โดยประกอบด้วย 5 สายพันธุ์ ได้แก่พันธุ์ปุยฝ้าย พันธุ์อีล่า พันธุ์ทับทิม พันธุ์นิ่มนวล และพันธุ์กำมะหยี่เท่านั้น.-สำนักข่าวไทย