กรุงเทพฯ 16 มี.ค. – ประธานกรรมการหอการค้าไทยเผยเตรียมนำแผนข้อเสนอเอกชนกว่า 600 บริษัท หารือภาครัฐขอเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเองทั้งหมดกว่า 7.5 แสนคน แต่ให้ภาครัฐจัดหาแหล่งวัคซีนให้ มั่นใจเศรษฐกิจโลกฟื้นแล้ว แนะรัฐเตรียมพร้อมเปิดประเทศ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากการติดตามการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐ นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่เพื่อให้การฉีดวัคซีนมีความรวดเร็วมากขึ้น ภาคเอกชนมีความยินดีและจะทำหน้าที่รับค่าใช้จ่ายด้านวัคซีนทั้งหมดเอง แต่ให้ภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่นำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นผู้จัดหาแหล่งวัคซีนทุกยี่ห้อมาให้กับภาคเอกชน โดยให้สถานพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน เป็นผู้ฉีดวัคซีนให้กับพนักงานและครอบครัวของเอกชน ซึ่งในเบื้องต้นมีบริษัทเอกชนยื่นความจำนงที่จะดูแลเองมีมากกว่า 600 บริษัท และมีจำนวนพนักงานและครอบครัวที่สนใจฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากกว่า 700,000 คนขึ้นไป ที่พร้อมจะฉีดวัคซีนดังกล่าว
ทั้งนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด และยังมีความท้าทายอีกหลายอย่างที่ประเทศไทยต้องเผชิญในปี 2564 นี้ โดยหลายประเทศทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนกันไปมากพอสมควร ซึ่งถือเป็นผลดีกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะเดียวกันประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนการเปิดประเทศที่ชัดเจน เพื่อรองรับการกลับมาของเศรษฐกิจ จึงฝากการบ้านไปถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะฟื้นแล้ว ประเทศไทยเตรียมพร้อมรับการฟื้นตัวดังกล่าวได้ทันหรือไม่
อย่างไรก็ตาม แผนบริหารจัดการวัคซีนที่ชัดเจน หอการค้าไทยเสนอ 4 แนวทาง คือ 1.การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยในภาคธุรกิจนั้น กลุ่มที่มีความเสี่ยงในธุรกิจบริการที่ต้องมีการติดต่อทั้งกับคนไทยและคนต่างชาติ ควรได้รับการฉีดเป็นลำดับต้นๆ 2.รัฐต้องมีแผนกระจายวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อให้เอกชนสามารถบริหารจัดการธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.เร่งฉีดอย่างรวดเร็ว โดยเอกชนสามารถร่วมทำแผนการกระจายวัคซีนเพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว และบริษัทที่มีกำลังก็ยินดีจ่ายค่าวัคซีนให้พนักงานเอง และ 4.การสื่อสารสร้างความมั่นใจ โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกันสื่อสารชี้แจงถึงความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้เร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้หากดูแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจของสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป ดังนั้น ขณะนี้การทำงานร่วมกับภาครัฐถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งหอการค้าไทยได้เข้าไปร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อผลักดันแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เรื่อง Vaccine Passport สำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย การวางแผนรองรับการเปิดประเทศ เรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) เรื่องการท่องเที่ยวคุณภาพสูง รวมไปถึงการประยุกต์ใช้ Happy Model หรือโมเดลอารมณ์ดี มีความสุข (กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี แบ่งปันสิ่งดีๆ) ซึ่งได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว สิ่งเหล่านี้จะมีการบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด นอกจากนั้นยังมีเรื่องเกษตรมูลค่าสูงที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและเกษตรมูลค่าสูงจะเป็นจุดแข็งของประเทศที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป โดยหอการค้าไทยก็มีแนวทางในการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังต้องจับตามองในปีนี้ก็คือเรื่องอากาศสะอาด และการบริหารจัดการน้ำ โดยที่ผ่านมาหอการค้าไทยได้เสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดต่อรัฐสภาไปแล้ว ซึ่งรอการพิจารณาอยู่ นอกจากนั้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูร้อนนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากพอสมควร ซึ่งจะต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปลายเดือนมีนาคมนี้ หอการค้าไทยจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ แทนชุดเดิมที่หมดวาระลง แต่เชื่อมั่นว่าแนวทางที่หอการค้าไทยได้ดำเนินการมาโดยตลอดไม่ว่าจะยุคสมัยใด จะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งโดยปกติคนที่จะขึ้นมาในตำแหน่งประธานหอการค้าไทยจะเป็นรองประธานคนที่ 1 ซึ่งตอนนี้คือ นายสนั่น อังอุบลกุล ที่คาดหมายว่าจะได้นั่งประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยคนต่อไป . – สำนักข่าวไทย