สมุทรสาคร 8 มี.ค.64 – สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจับมือกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครและผู้ให้การสนับสนุนทุกภาคส่วน เปิดศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 ตั้งเป้าทำให้โรคโควิด-19 หมดไปจากประเทศไทย
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 10 นี้ เป็นความร่วมมือของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครและผู้ให้การสนับสนุนทุกภาคส่วน นับว่าเป็นการสนองนโยบายของภาครัฐสำหรับใช้เป็นสถานที่ป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เป็นอย่างดี และหวังว่าศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแห่งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคนสมุทรสาครและทำให้โรคโควิด-19 หมดไปจากประเทศไทย
นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีมติเห็นชอบในการปรับลดระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจากเดิมที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ขอขอบคุณสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และผู้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการก่อสร้างศูนย์ห่วงใยคนสาครที่ได้มาตรฐาน สวยงาม และมีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ยังจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ COVID-19 ภาคอุตสาหกรรม” เพื่อช่วยเหลือสมาชิกและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีการกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจระยะสั้น และระยะยาว เสนอแนวทางการเยียวยาต่อภาครัฐ รวมทั้งให้การช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหน้ากากผ้าจำนวน 100,000 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ 10 แห่ง อุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อาทิ หน้ากากผ้า, ชุด PPE, ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และ Aerosol Box เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคมรวมเป็นมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท
สภาอุตสาหกรรมฯ ยังร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม ออกใบรับรองมาตรฐาน “IPHA : Industrial and Production Hygiene Administration” ให้กับสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างถูกต้อง, จัดหาตู้เก็บวัคซีน COVID-19 ภายใต้โครงการ “FTI ช่วยชาติสู้ COVID-19 มอบตู้เก็บวัคซีนให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ 77 จังหวัด ทั่วประเทศ” โดยส่งมอบตู้เก็บวัคซีนล็อตแรกให้กับ 21 สถานพยาบาลรัฐเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา, ส่งมอบเตียงสนาม และชุด PPE ให้กับ Mr. Phyo Min Thein มุขมนตรีประจำภูมิภาคย่างกุ้ง โดยสิ่งของที่บริจาคมีมูลค่ารวมกว่า 5.5 ล้านบาท ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ตั้งคณะกรรมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจังหวัดสมุทรสาครขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 ณ จังหวัดสมุทรสาคร โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว และประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียงได้มีสถานที่กักตัวและรับการรักษา
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการ “เพื่อนห่วงใยเพื่อน” เพื่อมอบสิ่งของและเงินช่วยเหลือผ่านสภาออุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาพบว่าจังหวัดสมุทรสาครยังขาดสถานที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 สภาอุตสาหกรรมฯ จึงอนุมัติให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนผ่าน “คณะกรรมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม” โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ระดมทุนเพื่อจัดสร้างโรงพยาบาลสนาม (ระยะที่ 1) แบบ Prefabrication (การก่อสร้างอาคารจากชิ้นส่วนที่ผลิตให้สำเร็จจากโรงงานก่อนนำมาประกอบเป็นตัวอาคารที่หน้างาน) ขนาด 200 เตียง มูลค่ากว่า 11 ล้านบาท บนพื้นที่ติดถนนพระราม 2 จำนวน 49 ไร่ ตำบลท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว และประชาชนในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง ได้มีสถานที่กักตัวและรับการรักษา ช่วยลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 นับเป็น “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10” ที่ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างเพียง 28 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2564 . – สำนักข่าวไทย