กรุงเทพฯ 17 ก.พ.-ก.พลังงานเตรียมหารือ อีอีซี-กองทัพบก รวมแผนโซลาร์ฟาร์ม หลังอีอีซี ทำแผนส่งเสริมผลิต 500 เมกะวัตต์ กองทัพบก 3 หมื่นเมกะวัตต์ ยืนยันการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการต่างๆ ต้องเป็นไปตามแผน PDP
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวระบุถึงการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก( EEC ) 500 เมกะวัตต์ และโครงการพัฒนาไฟฟ้า โซลาร์ฟาร์ม กองทัพบก 4.5 ล้านไร่ กำลังผลิต 3 หมื่นเมกะวัตต์ รวมทั้ง โครงการอื่นๆภายใต้พื้นที่พิเศษต่างๆนั้น ปัจจุบัน ยังมิได้มีการกำหนดการรับซื้อที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ( PDP ) ดังนั้น ในเร็วๆนี้ ก็จะหารือกับ ทั้ง 2 หน่วยงาน ว่าจะร่วมมือหรือทำอย่าไงให้ภาพรวมการผลิตไฟฟ้าของประเทศอยู่ในแผนเดียวกัน ซึ่งในขณะนี้ กระทรวงกำลังจัดทำแผน อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ซึ่งแผนด้านไฟฟ้าก็จะอยู่ในแผนนี้
” ในช่วงสัปดาห์หน้า กระทรวงพลังงาน จะมีการประชุมหารือร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าและการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าในเขตพื้นที่ EEC ซึ่งในขณะนี้ทั่วโลกส่งเสริมพลังงานสีเขียว การกำหนดในพื้นที่อีอีซี ให้มีพลังงานทดแทน ในสัดส่วนที่เหมาะสมก็จะดึงดูดนักลงทุน ซึ่งกระทรวงพลังงานสนับสนุน แต่ก็ต้องวางแผนร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นคงในทุกๆด้าน” นายกุลิศ กล่าว
ทั้งนี้ การจัดทำแผน PDP นั้นจะมีการพิจารณาถึงมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนรอบด้านและต้องมีความสมดุล ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านความมั่นคง มิติด้านต้นทุน รวมถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการมองในภาพรวมของการพัฒนาระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ การรับซื้อไฟฟ้าตามแผน PDP จึงเป็นการดำเนินการตามแผน เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น และสอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น โครงการที่จะมีการพัฒนา และจะมีการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบหรือไม่นั้น ต้องมีการพิจารณาในองค์รวมภายใต้ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า
สำหรับ แผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) เป็นการรวมแผน TIEB เดิม เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีการวิเคราะห์ทิศทางกาเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ว่าจะว่าเป็นด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจะตอบโจทย์การลดการปล่อยปลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า การเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งการประมวลทิศทางโลกเหล่านี้ กระทรวงพลังงาน จะนำมาพิจารณาร่วมกับทิศทางการพัฒนาของประเทศที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคาดว่าภายในช่วงกลางปี 2564 จะมีการนำเสนอร่างแผนพลังงานชาติโดยจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ก็จะนำแผนดังกล่าวมาเป็นกรอบทิศทางนโยบายในการพัฒนาแผนปฏิบัติการในแต่ละด้าน ทั้งด้านไฟฟ้า ด้านก๊าซธรรมชาติ ด้านพลังงานทดแทน ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และด้านอนุรักษ์พลังงาน โดยคาดว่าแผนปฏิบัติการดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในไตรมาสที่ 4 ของ2564 -สำนักข่าวไทย