กรุงเทพฯ 10 ก.พ.-โฆษกกระทรวงการคลังเผยความคืบหน้าการเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะสำหรับประชาชนกลุ่มที่ต้องการ ความช่วยเหลือเป็นพิเศษและการยื่นขอทบทวนสิทธิ์ของประชาชนที่ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ ระหว่างวันที่ 15 – 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สาขาธนาคารกรุงไทย
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายละเอียดการเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ (โครงการฯ) สำหรับประชาชนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ทโฟนทำให้ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ
ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียนเองหรือเดินทางไปใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ เป็นต้น โดยประชาชนกลุ่มดังกล่าวสามารถลงทะเบียนได้ระหว่างวันที่ 15 – 25 กุมภาพันธ์ 2564 ณ สาขาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทย) หรือจุดบริการเคลื่อนที่รับลงทะเบียน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการร่วมกับธนาคารกรุงไทยในการให้มีจุดบริการเคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่รับลงทะเบียนให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว
สำหรับประชาชนในกลุ่มดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยในเบื้องต้นประชาชนกลุ่มดังกล่าว ต้องนำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด (Smart Card) ไปใช้ประกอบการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์โครงการฯ โดยต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนโดยการเสียบบัตรประจำตัวประชาชน (Dip Chip) ผ่านเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture หรือ EDC) พร้อมกำหนดรหัส (PIN Code) ได้ที่สาขาของธนาคารกรุงไทย หรือจุดบริการที่ธนาคารกรุงไทยกำหนด ทั้งนี้ ประชาชน ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและได้รับอนุมัติวงเงินสิทธิ์จะได้รับวงเงินสิทธิ์สนับสนุนเป็นรายสัปดาห์ จำนวนไม่เกิน 3,500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยสามารถใช้จ่ายวงเงินผ่านบัตรประจำตัวประชาชน
ส่วนการซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการจากร้านค้าในโครงการธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ร้านค้า ในโครงการคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ และผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยวงเงินที่ได้รับจากโครงการฯ สามารถสะสมได้ แต่จะสามารถใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2564
สำหรับกลุ่มประชาชนที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com แล้วพบว่า “ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ”
สามารถยื่นขอทบทวนสิทธิ์ผ่านทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติเรื่องเงินได้พึงประเมิน และมีความประสงค์ให้ตรวจสอบข้อมูลเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2563 ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินวันที่ 8 มีนาคม 2564 สำหรับผู้ที่ได้ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 8 – 9 กุมภาพันธ์ 2564 จะต้องยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังพบว่ามีประชาชนหรือร้านค้าที่ใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินการทางกฎหมายในประเด็นดังกล่าวแล้ว หากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขจริง จะระงับการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ของร้านค้าตลอดจนระงับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าทันที รวมถึงระงับการใช้แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ด้วย และจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ จึงขอความร่วมมือประชาชนรักษาสิทธิ์ของตนเอง และขอให้ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการฯ สำหรับประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการฯ สามารถแจ้งเบาะแส รวมถึงส่งหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดเงื่อนไขโครงการฯ ถึง “คณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการฯ” ทางไปรษณีย์มาได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail Account) wewin@fpo.go.th หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3250 3423 3424 3425 3427 3429 3430 3431 และ 3444 (เฉพาะวันและเวลาราชการ) Call Center ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2111 1144 ได้.-สำนักข่าวไทย