ทำเนียบรัฐบาล 8 ก.พ.- ผู้ช่วยโฆษก ศบค.แถลงมีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 186 ราย คาดที่จุฬาฯ มีติดเชื้ออีก 9 ราย เตรียมคัดกรองเชิงรุกโรงงานสมุทสาครที่พบเชื้อน้อยกว่า 10 % กว่า 50 แห่ง
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด 19 วันนี้(8 ก.พ.) เพิ่มขึ้น 186 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 23,557 ราย หายป่วยแล้ว 17,410 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 6,068 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมรวม 79 คน โดยเป็นผู้ป่วยยืนยันสะสมรอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 8 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 19,320 ราย
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น 186 ราย เเบ่งเป็นผู้ที่ติดเชื้อในประเทศ 176 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 141 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 35 ราย และผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเข้า state quarantine 10 ราย เดินทางมาจากเยอรมนี 1 ราย อินเดีย 1 ราย มาเลเซีย 1 ราย ตุรกี 1 ราย สวีเดน 1 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย สหราชอาณาจักร 2 ราย และสหรัฐอเมริกา 1 ราย
“สำหรับผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯจำนวน 3 ราย พบว่าเป็นผู้ที่ติดเชื้อในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงสูง-ต่ำไปแล้ว และคาดว่าจะมี 9 รายที่มีแนวโน้มจะเป็นผู้ติดเชื้อโควิค ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รายงานการสอบสวนวงจรของโรคอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง 14 วัน ก่อนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่พบเชื้อ และมีมาตรการให้ผู้มีความเสี่ยงลาหยุดกักตัวเฝ้าดูอาการ และทำความสะอาดพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด 19 ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดและดูแลอาการ” พญ.อภิสมัย กล่าว
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ที่จังหวัดสมุทรสาครยังคงค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และกำหนดมาตรการของจังหวัดในการคัดกรองเชิงรุกในโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ที่มีอยู่ประมาณ 50 โรงงาน เพราะที่ผ่านมาได้คัดกรองโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ไปหมดแล้ว โดยในการตรวจจะค้นหา 100-150 เคสต่อวันต่อ 1 โรงงานหรือประมาณ 5,000 คนต่อวัน ซึ่งมาตรการที่เข้มข้นของจังหวัดสมุทรสาครเพื่อจะติดตามคัดกรองและตีกรอบโรค หวังว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็จะให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติโดยเร็ว
“ผู้ป่วยโควิดรายแรกที่อาศัยในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีอาชีพแม่ค้าขายหมู แม้จะพักอาศัยอยู่ที่อำเภออัมพวา แต่เดินทางไปหลายจังหวัด ทั้งการไปขายของในตลาดรถไฟ จังหวัดสมุทรสาครและการไปรับหมูที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยพบว่าติดเชื้อเมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นคนในครอบครัวไปตรวจหาเชื้อ เนื่องจากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ทำให้พบลูกสะใภ้ติดเชื้อเพิ่มอีก 1 คน แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับกรณีนี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่เดินทางไปมาหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งในครอบครัวตลาดและชุมชนตั้งแต่วันที่ 30 มกราคมถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์มีรายงานพบผู้ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์เดียวกัน 87 ราย และมีความเชื่อมโยงหลายจังหวัดอาทิ สมุทรสาคร 22 ราย เพชรบุรี 5 รายกรุงเทพฯ สุพรรณบุรีและราชบุรีจังหวัดละ 1 ราย ซึ่งพฤติกรรมนี้เกิดจากการเดินทางข้ามจังหวัดและพบปะกัน” พญ.อภิสมัย กล่าว
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่ต้องเข้ารับการตรวจต้องมีคุณสมบัติที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยและสัมผัสใกล้ชิด พูดคุยกับผู้ป่วยเกิน 5 นาที โดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน ถูกไอหรือจามใส่ และอยู่ร่วมกันในสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทเกินกว่า 15 นาที แต่กรณีของการพักอาศัยอยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ป่วย และการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันไม่ถือว่ามีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือเจ้าของและผู้ประกอบการ ที่ดูแลเกี่ยวกับที่พักอาศัย ให้ตั้งคณะกรรมการสำหรับการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและออกมาตรการการดูแลคัดกรองให้ปฏิบัติการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขภายในสถานที่พัก
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด ทั่วโลกฉีดไปแล้ว 73 ประเทศ 128 ล้านโด๊ส โดยสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ฉีดสูงสุด 40 ล้านโด๊ส ขณะเดียวกันมีคำถามตามมาว่ารัฐบาลควรกำหนดมาตรการให้คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเดินทางเข้า-ออกนอกประเทศได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์ โควิดอย่างต่อเนื่อง และกำหนดมาตรการตามความเหมาะสม นำตัวเลขสถิติมาวิเคราะห์ ดังนั้น การจะเลียนแบบต่างประเทศเพียงอย่างเดียวคงทำไม่ได้ ต้องดูบริบทให้เหมาะสมกับประเทศไทยด้วย
“ในสัปดาห์นี้จะมีวันหยุดสำคัญของเทศกาลตรุษจีนที่หลายคนรอคอย หวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการผ่อนคลายเพื่อจะได้เฉลิมฉลอง ชดเชยจากช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ในความเป็นจริง เป็นห่วงเรื่องการรวมญาติ เพราะเดินทางเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด การรวมกลุ่มจึงต้องเฝ้าระวังสูงสุด สิ่งที่เป็นห่วงมากคือการจับจ่ายใช้สอย รวมตัวไปซื้อของตามตลาดและซุปเปอร์มาเก็ต อาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อสูง จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันรักษามาตรการเว้นระยะห่าง การแจกอั่งเปาสามารถทำออนไลน์ได้โดยการโอนเงินผ่านเน็ตเเบงค์ ส่วนการซื้อขายของไหว้สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ได้เช่นกัน รวมถึงวันวาเลนไทน์อยากฝากว่าหากรักกันก็ควรจะมีระยะห่างด้วย” ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากกระทรวงแรงงานว่าในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้จะหมดเขตขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว หากไม่มาขึ้นทะเบียนในวันที่ 14 กุมภาพันธ์จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ล่าสุดมีรายงานมาขึ้นทะเบียนแล้ว 416,769 ราย โดยเป็นแรงงานที่มีนายจ้าง 384,102 ราย จึงอยากขอความร่วมมือให้ทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวทุกคนเข้ารับการขึ้นทะเบียน และปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง ซึ่งมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ รัฐบาลจะประกาศออกมาเป็นระยะ.-สำนักข่าวไทย