กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยันการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลทำอย่างเต็มที่และรอบคอบ เตรียมฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.นี้ กำชับเซเว่นฯ นำหน้ากากคุณภาพมาขายในราคาถูกให้กับประชาชน ศบค.ควรปิดตลาดชุมชนที่ติดเชื้อเท่านั้น แจงเหตุไม่ปิดห้างฯ เพราะไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อ
วันนี้ (22 ม.ค.) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยผลการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของรัฐในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยได้เชิญผู้แทนศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือ ตามคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. กรณีการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการปิดตลาดนัดชุมชน 2. กรณีการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนหน้ากากอนามัยจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จัดสรรหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งไม่มีการควบคุมราคาหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ (ร้าน 7-11) และ 3. กรณีร้องเรียนความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน
โดยที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เสนอแนะใน 3 ประเด็นตามข้อร้องเรียน ดังนี้ กรณีมาตรการปิดตลาดนัดชุมชน ที่ผ่านมาจะปิดเฉพาะตลาดที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อรุนแรง พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เช่น ตลาดกลางกุ้ง ตลาดกลางบางใหญ่ ส่วนตลาดอื่น ๆ ถ้าพบมีผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อรุนแรง จะดำเนินการปิดชั่วคราว เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค และมีกรมอนามัยเข้าตรวจตราความปลอดภัยก่อนเปิดตลาดที่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนห้างสรรพสินค้านั้นยังไม่พบว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อรุนแรง ซึ่งรัฐยืนยันว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้กำชับให้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและวิธีการฆ่าเชื้อในพื้นที่นั้น ๆ แทนการปิดตลาด หากจำเป็นต้องปิดตลาด ขอให้ปิดในระยะเวลาสั้นที่สุด เพื่อลดผลกระทบผู้ประกอบการและการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ในขณะเดียวกัน ให้ทุกสถานที่เข้มงวดมาตรการป้องกันพื้นฐาน
ส่วนกรณีหน้ากากอนามัยของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และการควบคุมราคา ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยประเภท Surgical Mask ที่ขอขึ้นทะเบียน 78 แห่ง มีกำลังผลิตประมาณ 5 ล้านชิ้น/วัน และมีผู้ที่ขออนุญาตนำเข้าอีก 234 ราย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่มีกว่า 65 ล้านคน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้กำชับให้ ศบค. เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่เจ็บป่วย สามารถเลือกใช้หน้ากากทางเลือก หรือหน้ากากผ้า ก็เพียงพอต่อการป้องกันฝอยละอองจากการไอ จาม และลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้
และจากการลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า โรงงานผลิตหน้ากากของเครือซีพี ได้ผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกฟรีให้แก่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนกลุ่มผู้เปราะบางเท่านั้น เช่น คนชรา ผู้พิการ ผู้ยากไร้ไม่มีกำลังซื้อ โดยมอบให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นองค์กรดูแลแจกจ่ายหน้ากากอนามัยไปยังโรงพยาบาล องค์กรการกุศล และมูลนิธิ ทั่วประเทศ เป็นคนละส่วนกับหน้ากากที่ขายในร้าน 7-11 ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ขอความร่วมมือจากทางบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่จัดจำหน่ายหน้ากากในร้าน 7-11 ให้นำหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในราคาควบคุมมาจัดจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ส่วนหน้ากากทางเลือกและหน้ากากผ้านั้น ขอให้คัดเลือกชนิดที่มีคุณภาพ แต่มีราคาที่ถูกลง เพื่อให้ประชาชนซื้อหาและเข้าถึงได้มากขึ้น
สำหรับการจัดหาวัคซีนล่าช้า ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการจัดหาวัคซีนมานานแล้ว ตั้งแต่กลางปี 2563 มีการตั้งเป้าหมายการจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 จำนวน 33,000,000 คน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้วัคซีนจาก 2 แหล่ง คือ แหล่งที่ 1 ระยะเร่งด่วน จากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีน จำนวน 2,000,000 โดส คาดว่าจะได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันวาเลนไทน์ เดือนกุมภาพันธ์นี้ แหล่งที่ 2 จากบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศอังกฤษและสวีเดน จำนวน 26,000,000 โดส คาดว่าจะได้รับวัคซีนในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งศึกษาถึงรายละเอียด ความปลอดภัย ความคุ้มค่า ในบริบทที่มีความเสี่ยงอย่างรวดเร็วเต็มที่และรอบคอบแล้ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนคนไทย ซึ่ง สตง.ได้ให้คำแนะนำว่า ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ นั้นจะไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อสิ่งที่ยังไม่มีในตลาดได้ แต่สถาบันวัคซีนแห่งชาติสามารถใช้จ่ายงบประมาณในลักษณะของการร่วมวิจัยพัฒนาวัคซีน
โดยที่ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 กำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก และบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตวัคซีนได้ มีเป้าหมายการผลิตวัคซีน จำนวน 3,000 ล้านโดส/ปี แต่ไม่สามารถดำเนินการผลิตฝ่ายเดียวได้ จึงต้องหาพันธมิตรที่มีศักยภาพของบุคลากรและมีเทคโนโลยีที่พร้อมในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการมาสำรวจบริษัทต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและในประเทศไทย และพบว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มีขีดความสามารถเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคนี้ได้ และเป็นบริษัทที่ไม่แสวงหากำไร แอสตราเซเนกา จึงเลือกที่จะร่วมมือกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยมีการตั้งเป้าการผลิต จำนวน 200 ล้านโดส/ปี และในสภาวการณ์ระบาดฉุกเฉินทั่วโลก รัฐจะเป็นผู้บริหารจัดการวัคซีน ยังไม่สามารถให้เอกชนจัดซื้อได้โดยตรง สำหรับการแจกจ่ายนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่แจกจ่ายกระจายต่อไปยังประชาชนหรือหน่วยงาน โดยเรียงลำดับความจำเป็นของผู้ที่ต้องการใช้วัคซีน ซึ่งต้องมีแผนควบคุมการใช้ การแจกจ่าย การติดตามผลข้างเคียง. – สำนักข่าวไทย