กรุงเทพฯ 12 ม.ค.- ปลัด ก.พลังงาน เผยงบ อุดหนุนค่าไฟฟ้า 2 เดือน ลดผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 8 พันล้านบาท พร้อมพิจารณาช่วยเหลือเพิ่มเติมหากยืดเยื้อ กกพ.ประชุม 3 การไฟฟ้าพรุ่งนี้ กำหนดรายละเอียด
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผย ว่า การลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อลดภาระประชาชนและผุ้ประกอบการ จากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ หลังจาก ครม.เห็นชอบในวันนี้แล้ว แล้ว วันพรุ่งนี้ ((13 ม.ค.) ทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะประชุมร่วมกับ 3 การไฟฟ้า เพื่อกำหนดรายละเอียดและออกประกาศต่อไป ซึ่งการลดค่าไฟฟ้าในรอบนี้ คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 8 พันล้านบาท โดย 3 พันล้านบาทมาจาก เงิน ที่ กกพ.ดูแล ซึ่ง มาจาก เงินลงทุนของ 3การไฟฟ้าที่ ล่าช้ากว่าแผน ส่วนอีก 5 พันล้านบาท มาจากเงินเยียวยาที่กระทรวงการคลังดูแล
สำหรับการช่วยเหลือ ลดค่าไฟฟ้ารอบนี้ ครอบคลุมทั้งประชาชน ผู้ประกอบการรายเล็ก-กลาง-ใหญ่ โดย ขนาดกลาง-ใหญ่นั้น เป็นมติเดิม ที่มีอยู่แล้ว คือยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) จนถึงเดือนมีนาคม 64 จากที่ปกติ หากไม่มีการใช้ไฟฟ้าก็ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 70 ของการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือน โดยในกรณีคือ จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าที่ใช้จริงเท่านั้น ซึ่งกรณีปิดโรงแรม หรือที่พักเป็นการชั่วคราว ไม่มีการใช้ไฟฟ้าเลยก็ไม่ต้องจ่ายแต่อย่างใด
“ การพิจารณา เยียวยาผลกระทบค่าไฟฟ้ารอบนี้ ได้พิจารณารอบด้าน ซึ่งรอบที่แล้ว บ้านขนาดเล็กกำหนดให้ใช้ไฟฟ้าฟรีทั้งหมด แต่รอบนี้กำหนดว่าให้ฟรีเฉพาะไม่เกิน 90 หน่วยเท่านั้น และภาพรวมๆได้ปรับปรุงให้ดูถึงความเดือดร้อน และการใช้ไฟฟ้าที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน การไม่กระทบต่อรายได้รัฐ จึงคาดว่ารอบนี้จะใช้เงินเพียง 8 พันล้านบาทเท่านั้น จากรอบที่แล้ว การช่วยเหลือใช้เงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การระบาด เกิดลากยาว ทางกระทรวงฯก็จะค่อยมาพิจารณาเพิ่มเติมว่ามีมาตรการใดช่วยเหลือ เพิ่มหรือไม่ “ ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ในฐานะโฆษก MEA กล่าวว่า สำหรับมาตรการลดค่าไฟฟ้า ตามมติ ครม. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่นี้ MEA มีความพร้อมในการตอบสนองนโยบายรัฐบาล โดยจะมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดรายละเอียดในวาระต่อไป
ทั้งนี้ ครม.วันที่ 12 ม.ค. มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้า น้ำประปา และอินเตอร์เน็ต) สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและประชาชนในระยะเร่งด่วน (เดือนมกราคม-มีนาคม 2564) ได้แก่
1 ค่าไฟฟ้า มีระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564
-กรณีบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ฟรี 90 หน่วยแรก กรณีเกิน 150 หน่วยต่อเดือนให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้ (1) กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง (2) กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ (2.1) ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 (2.2) มากกว่า 500 แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 บวกด้วยหน่วยที่ใช้ไฟฟ้าที่มากว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม ในอัตราร้อยละ 50 และ (2.3) มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ในอัตราร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และสำหรับกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
2. ค่าน้ำประปา ให้ลดร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าประปาประจำเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564
3. ค่าอินเทอร์เน็ต กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จะขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายระบบโทรคมนาคมพิจารณามาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ตของครัวเรือน ดูแลระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้มีเสถียรภาพสูงสุดเพื่อรองรับการทำงานที่บ้านได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
-มาตรการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 อาทิให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโคควิด-19 อาทิ หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ให้เพียงพอและครอบคลุมทั่วถึงโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง
-มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้โรงงานของตนเองเป็นสถานที่ในการกักตัวแรงงานในพื้นที่โรงงาน (Factory Quarantine) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือในการใช้พื้นที่โรงงานของตนเองเป็นสถานที่กักตัวแรงงานป้องกันการแพร่ระบาดและป้องกันการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต
-มาตรการปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน จะให้ผู้ใช้สิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน สามารถเลื่อนการจองที่พักในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ออกไปได้จนถึงเดือนเมษายน 2564 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณาขยายระยะเวลาของโครงการที่เหมาะสม ปรับปรุงโครงการให้ความรัดกุม เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศตั้งแต่ปลายไตรมาสแรก ของปี 2564 -มาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ โดยกระทรวงการคลังจะประสานธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติมเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม
– มาตรการส่งเสริมการจ้างงานและรักษาระดับการจ้างงาน กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาให้โดยภาครัฐและเอกชน ปรับปรุงเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมเฉพาะเด็กจบใหม่ให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งหามาตรการดูแลแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตร 33 กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 ใน 15 เดือน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตร 40 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน -สำนักข่าวไทย