สธ.4 ม.ค.- อธิบดีกรมอนามัย แจงประกาศ กทม.ห้ามนั่งร้านรับประทานอาหาร ช่วงค่ำถึงเช้า 19.00-06.00 น. หวังคุมพฤติกรรม คนนั่งเมาท์กินนานติดโควิด ย้ำสถานการณ์ไม่ปกติ ของดนั่งแช่ในร้าน เข้าร้านเช็คอินไทยชนะ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้เวลาทานให้เร็ว จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยรอดโควิด
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงมติคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ห้ามรับประทานในร้านอาหารตั้งแต่ เวลา 19.00-06.00 น.ว่า ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับพฤติกรรมของคนที่ส่วนใหญ่มักนิยมพบปะสังสรรค์รับประทานอาหารกันในช่วงเย็นและพบว่าส่วนใหญ่คนมักทานมื้อเย็นเป็นมื้อหนัก ใช้เวลารับประทานนาน
สำหรับประชาชนทั่วไปที่จะเข้าไปใช้บริการร้านอาหารในช่วงเวลา 06.00-19.00 น.นั้น ก็ขอให้คำนึง ใน 3 ข้อ ได้แก่ 1.ทางร้านมีมาตรการคัดกรอง วัดไข้ จัดบริการเจลล้างมือ 2.เว้นระยะห่างหรือไม่ ต้องมีการจัดวางโต๊ะ ไม่ให้แออัด 3. ต้องมีการเช็คอินไทยชนะเสมอ สิ่งนี้ถือเป็นหลักในการปฏิบัติตัว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับร้านอาหารเอง ผู้ปรุงอาหารต้องมีการ สวมถุงมือ ผ้ากันเปื้อนหมวกคลุมและจัดช้อนกลางไว้บริการเสมอ มีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส ส่วนการชำระเงินตอนนี้ขอให้คิดว่าสถานการณ์ไม่ปกติ ทุกคนมีความเสี่ยง ขอให้เลือกการชำระด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน เพื่อเลี่ยงการจับเงินทั้งแบงค์ เหรียญ ที่ไม่อาจทราบได้ว่า ผ่านมือใครมาบ้าง หากสัมผัสเงินต้องล้างมือ พร้อมอย่าลืมสวมหน้ากากอนามัย พกแอลกอฮอล์สเปรย์
ส่วนหากมีการประเมินระหว่างการรับประทานอาหารและการพูดคุย พฤติกรรมไหนเสี่ยงได้รับเชื้อมากกว่ากัน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ไม่ว่าจะแพร่ผ่านสารคัดหลั่ง ด้วยการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย ซึ่งพฤติกรรมที่เชื้อจะออกมาได้เยอะส่วนใหญ่เป็นการกู่ร้อง ตะโกน เชียร์ร้องเพลง แต่การรับประทานอาหาร เชื้ออาจออกมาได้ไม่มาก แต่ต้องถอดหน้ากาก ถือเป็นเราไม่สามารถระวังตัวได้ ดังนั้นก็ไม่ควรใช้เวลารับประทานให้นานเกินไป เพราะส่วนใหญ่ติดเชื้อโควิดร้อยละ 80 ไม่แสดงอาการ ทำให้ไม่อาจรู้ได้ว่า ใครติดมาแล้วบ้าง ต้องระวังตัว ขอย้ำอีกครั้งสถานการณ์ขณะนี้ไม่ปกติ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนเดลิเวอรีหรือการส่งอาหารนั้น ต้องมีการแบ่งผู้เกี่ยวข้องออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1.ร้านอาหาร ต้องมีการทำความสะอาด ผู้ปรุงอาหารตรวจวัดไข้ ไม่ป่วย ปรุงอาหารต้องสุกใหม่ ไม่เกิน 4 ชั่วโมง มีการคัดกรองพนักงานในร้าน วัดไข้ จัดจุดล้างมือ และมีการจัดที่นั่งเว้นระยะห่าง สำหรับคนที่มารอรับ-ส่งอาหาร 2.คนส่งอาหาร ต้องผ่านการตรวจร่างกายวัดไข้ ทำความสะอาดร่างกาย ภาชนะในการส่งต้องไม่ปะปน ตั้งอาหารและเครื่องดื่ม ไม่รับและสัมผัสเกี่ยวข้องกับลูกค้า ควรรับเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 3.ผู้บริโภค เองก็ไม่ควรสัมผัสกับคนส่งอาหาร และ รับอาหารแล้วควรเปลี่ยนภาชนะ และนำไปอุ่นให้ร้อน เลี่ยงการใช้เงินสดใช้เงินอิเล็กทรอกนิกส์ และล้างมือทันที เมื่อรับอาหารแล้ว .-สำนักข่าวไทย