20 ธ.ค. – พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร.เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมีการตรวจพบประชาชนและแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครติดเชื้อโควิดจำนวนกว่า 500 รายนั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ได้เรียกประชุมด่วนกรณีการตรวจพบการแพร่ระบาดโควิดในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกำชับแนวทางการปฏิบัติในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.ต.ยิ่งยศ โฆษก ตร.กล่าวว่า วันนี้ 30 ธ.ค.63 เวลาประมาณ 10.00 น.พล.ต.อ.สุวัฒน์ ผบ.ตร.ได้มีวิทยุสั่งการด่วนเรียกประชุม “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ณ ห้องประชุม ศปก.ตร.ชั้น 20 อาคาร 1 ตร. เพื่อสั่งสรุปสถานการณ์และกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด โดยการเข้าควบคุมพื้นที่ร่วมกับหน่วยปฏิบัติอื่นๆ ในการสกัดกั้นการเข้าออกของบุคคลที่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค การสอบสวนโรค และการตรวจหาผู้ที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ
โดยเนื้อหาการประชุมได้แก่ การรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวม, สถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียง ต่อมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ผบ.ตร.ได้มีข้อห่วงใยอย่างยิ่ง ทั้งในส่วนของพี่น้องประชาชนและในส่วนกำลังพลตำรวจ โดยได้สั่งการในหัวข้อหลักๆ สามประเด็นได้แก่ การเตรียมความพร้อมด้านการปฏิบัติและการบริหารเหตุการณ์, ความพร้อมด้านกำลังพล และความพร้อมด้านงบประมาณ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
– เตรียมความพร้อมในด้านการบริการประชาชน โดยการให้จุดบริการต่างๆ ที่จะต้องสัมผัสใกล้ชิดกับประชาชน เช่น ห้องรับแจ้งความ ฯลฯ ให้ดำเนินการตามมาตรการในช่วงโควิดอย่างเข้มข้น โดยให้สำนักงานแพทย์ใหญ่เป็นหน่วยหลักในการสำรวจความพร้อม และให้พื้นที่อื่นๆ ประสานงานกับสาธารณสุขพื้นที่ร่วมสำรวจ
– สำรวจข้อมูลกำลังพล อุปกรณ์-วัสดุทางการแพทย์ ที่จะต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ได้แก่ หน้ากาก เจลล้างมือ น้ำยา
– สำรวจความพร้อมของสถานที่ราชการ ยานพาหนะ และที่พักตำรวจ ให้เป็นไปตามมาตรการการป้องกันโรค
– ในการออกคำสั่งทางราชการต่างๆ โดยเฉพาะด้านสิทธิกำลังพลให้ดูแลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
– ให้ ทุก บช.ตรวจสอบพื้นที่รับผิดชอบว่ามีสถานที่เสี่ยงใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ชุมนุมหรือโรงงาน ศึกษาวงจรชีวิตของแรงงานพม่า เช่น การเดินทางของแรงงานไปตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างย่ิง ในพื้นที่สิบจังหวัดชายแดนภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี แม่ฮ่องสอน ระนอง และราชบุรี โดยให้ปรึกษาหารือกับสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อเตรียมการณ์ในด้านการสำรวจและการตั้งจุดสกัด หากทางรัฐบาลมีการยกระดับสถานการณ์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าควรตั้งจุดตรวจ จะได้สามารถพิจารณาดำเนินการได้ทันที
– การจราจรบางเส้นทางที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีความจำเป็นจะต้องตั้งจุดตรวจเพื่อควบคุมโรค
– ให้ระดับผู้บังคับการและรองผู้บังคับการ ต้องออกไปตรวจเยี่ยมผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง และหากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนให้รายงานทางโทรศัพท์ทันที
– ให้หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติงดการจัดงานปีใหม่ หรืองานรื่นเริงที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
ท้ายที่สุดได้กล่าวว่า ตำรวจพร้อมเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของจังหวัด และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ในการควบคุมป้องกันโรคแก้ไขสถานการณ์โควิดในครั้งนี้ .- สำนักข่าวไทย