กรุงเทพฯ 27 พ.ย. – “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รมช.เกษตรฯ เผยไฟเขียวให้ 3 หน่วยงานทำการลับ นำมาสู่การจับกุมอดีตกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟที่มีการทุจริต ทำให้สหกรณ์เสียหายกว่า 2,200 ล้านบาท
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้ประสานกับสำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หารือร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นการลับ เพื่อให้มีการเร่งดำเนินคดีกับอดีตกรรมการสหกรณ์สโมสรรถไฟ จำกัด (สอ.สรฟ.) ที่มีการทุจริต ทำให้สหกรณ์เกิดความเสียหายกว่า 2,285 ล้านบาท เนื่องจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนปกติเป็นไปอย่างล่าช้าจะยิ่งส่งผลเสียหายมากยิ่งขึ้น หากให้ดีเอสไอดำเนินการจะสามารถทำงานได้รวดเร็วว่าขั้นตอนปกติ จึงนำมาสู่การจับกุมอดีตกรรมการสอ.สรฟ.ที่ดำเนินการทุจริตได้ในวันนี้
“เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้มีการหารือกันเป็นการลับของ 3 หน่วยงานเพื่อดำเนินการได้ในเรื่องนี้ ซึ่งได้ขอให้ดีเอสไอ เร่งดำเนินการ เรื่องนี้ให้ทำตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด ไม่ต้องเกรงใจใคร ไม่ต้องไว้หน้าใคร ให้ดำเนินการกับทุกคนที่ทุจริต และหลังหารืออยากให้มีการจับกุมได้ภายใน 15 วันหรือไม่เกิน 1 เดือน เพราะเกรงจะมีการไหวตัวก่อน ซึ่งรายละเอียดการทุจริตให้ประสานกับกรมทั้งสองได้ตลอดเวลาเพราะข้อมูลมีครบทั้งหมด หลังจากนั้นทางดีเอสไอ ได้ส่งรายงานความคืบหน้าการดำเนินการมาเป็นระยะให้ทราบ จนนำมาสู่วันนี้ ซึ่งเชื่อว่าด้วยขบวนการของดีเอสไอจะทำให้ได้เรื่องนี้ได้ข้อยุติโดยเร็ว “ นางสาวมนัญญา กล่าว
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ได้มีการประสานงานและดำเนินการเป็นการลับในเรื่องนี้ โดย รมช.เกษตรฯ ได้กำชับว่าหากดีเอสไอขอข้อมูลอะไรให้เร่งดำเนินการทันที ซึ่งข้อมูลที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ส่งก็คือชุดเดิมที่ร้องไว้กับพนักงานสอบสวนที่ สน.นพวงศ์ และสน.ปทุมวันมาก่อนหน้านี้ ทำให้ดีเอสไอ ไม่ต้องเสียเวลาในการสอบสวนข้อมูลเพิ่มเติม และด้วยอำนาจสอบสวนตามกฎหมายของดีเอสไอ กรมจึงเห็นว่าการให้ดีเอสไอมาช่วยทำคดีจะเป็นผลดีต่อสมาชิกในขบวนการสหกรณ์แห่งนี้
สำหรับกรณีการทุจริตของอดีตกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ(สอ.สรฟ.) ได้มีการตรวจพบว่า มีการอนุมัติเงินกู้พิเศษไม่เป็นไปตามระเบียบให้แก่สมาชิก 6 รายในช่วงปี 2556-59 รวม 199 สัญญายอดเงินกู้คงเหลือ 2,285 ล้านบาท หลังพบเหตุ 21 พ.ย. 59 อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ในขณะนั้นในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ได้มีคำสั่งให้มีการตรวจสอบเรื่องและกรมได้มีการตรวจพบว่ามีการทุจริตจริง จนเป็นเหตุให้สอ.สรฟ.เสียหาย จากนั้นกรมได้มีการดำเนินการตามกฎหมายของพรบ.สหกรณ์ มาต่อเนื่องไม่มีการเว้นวรรค หรือละเว้นการดำเนินการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนนำมาสู่การร้องทุกข์กล่าวโทษ และล่าสุดประสานกับดีเอสไอเข้าจับกุม.-สำนักข่าวไทย